ข่าวกิจกรรม

ชาวอาข่าเชียงรายจัดโล้ชิงช้า ชิมกาแฟดอยแสนใจ

เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงเรียนดอยแสนใจ (ตชด.อนุสรณ์) ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ว่าที่ ร.ต.กรกฎ ประเสริฐวงษ์ นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีโล้ชิงช้า ครั้งที่ 7 โดยมี นายปิยะเดช เชิงพิทักษ์กุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่สลองใน นายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย ดร.อนุวัช อุ่นกอง ผู้อำนวยการโรงเรียนดอยแสนใจ (ตชด.อนุสรณ์) นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก ผู้อำนวยการสมาคมอาข่าแห่งประเทศไทย นำชาวอาข่าจากหลายหมู่บ้านเข้าร่วม

โดยภายในงานมีการจัดให้เล่นชิงช้า ซึ่งชาวอาข่าเรียกว่า “แย้ขู่อ่าเผ่ว”เป็นชิงช้าที่สร้างเป็นเสาไม้ 4 เสาที่หมายถึงหมู่บ้านต่างๆ ที่มีอยู่ทั้ง 4 ทิศ และมีเชือกผูกซึ่งแสดงออกถึงความสามัคคีและให้ผู้เล่นโยกกวัดแกว่งไปตามแรงโยกเชือก นอกจากนี้ยังมีการละเล่นไม้หมุนที่เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “กะลาล่าเชอ” ด้วย

ทั้งนี้ยังมีการจัดการแสดงชนเผ่าจากชาวบ้านหมู่บ้านต่างๆ โดยเฉพาะการเต้นกระทุ้งไม้ไผ่โดยกลุ่มเด็กๆ ที่มีความน่าเอ็นดูและการแข่งขันตำข้าวปุ๊ก เป็นอาหารพื้นเมือง ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ไปเยือนเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกันภายในมีการจัดแสดงอาหารชนเผ่า ประกอบไปด้วยอาหารหลากหลายที่เปิดให้ได้ชมและชิมกันตลอดทั้งงาน นอกจากนี้มีนิทรรศการโรงเรีบน การละเล่นต่างๆ เช่น ลูกข่าง ฯลฯ ประกวดร้องเพลงอาข่า แต่งกายชุดชนเผ่า ฯลฯ ตลอดทั้งวันด้วย

ในโอกาสเดียวกันว่าที่ ร.ต.กรกฎ ได้เป็นประธานเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมอาข่าภายในโรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าและหมู่บ้านแสนใจ ของใช้ต่างๆ และเปิดร้านกาแฟดอยแสนใจภายในโรงเรียนอีกด้วย

สำหรับหมู่บ้านแสนใจมีที่มีที่มาจากการที่มีผู้นำชนเผ่าในอดีตมีชื่อเป็นภาษาอาข่าว่า “ถู่แซ จูเปาะ” ต่อมาเมื่อประมาณ 50 ปีก่อนก็ใช้ชื่อว่านายแสนใจและได้รับนามสกุลพระราชทานจากรัชกาลที่ 9 ว่า “พนานุรักษ์” เนืองจากเป็นผู้ที่ช่วยเหลือทางราชการในการดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ในยุคที่ยังมีการต่อสู้กันตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา จนเป็นที่มาของหมู่บ้านแสนใจดังกล่าว

ประเพณีโล้ชิงช้าจัดขึ้นทุกปีโดยตรงกับช่วงที่ผลผลิตทางการเกษตรกำลังงอกงามและพร้อมจะให้เก็บเกี่ยวในเร็ววันนี้ โดยจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เลี้ยงฉลอง เต้นรำ ซึ่งแต่ละชุมชนจะจัดไม่ตรงกันแต่จะอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย.ของทุกปี

ทาง นายไกรสิทธิ์ กล่าวว่า ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่าดังกล่าวมีกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค.-9 ก.ย.2561.