ข่าวเด่น

“อาคม” ลงพื้นที่ขับเคลื่อนรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ -เจ้าของที่ดินถามที่ตั้งสถานีหลังย่นเวลา2ปีสร้างเสร็จ

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่ส ที่ห้องยูโทเปีย โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนาสร้างการรับรู้และความเข้าใจโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย –เชียงราย–เชียงของ โดยมี นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (กฟท.)  นายสมบูรณ์ ศิริเวช รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมรับฟังประมาณ 500 คน

ทั้งนี้มีการจัดนิทรรศการข้อมูลการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายดังกล่าว และเปิดคลินิคเส้นทางที่โครงการรถไฟจะผ่านและที่ตั้งของสถานีต่างๆ ซึ่งพบว่ามีประชาชนเจ้าของที่ดินพากันไปสอบถามข้อมูลกันเป็นจำนวนมาก โดยมีทั้งผู้ที่ต้องการทราบเส้นทางเพื่อวางแผนประกอบการในที่ดิน ประเมินราคาที่ดิน เกรงผลกระทบจากเส้นทาง ฯลฯ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องคอยให้ข้อมูลและคำแนะนำ

โดยนายอาคม เปิดเผยว่าโครงการรถไฟสายนี้จะเชื่อมระหว่าง อ.เด่นชัย จ.แพร่ ผ่าน จ.ลำปาง จ.พะเยา และเข้าสู่ จ.เชียงราย โดยมีปลายทางอยู่ที่ อ.เชียงของ ชายแดนไทย-สปป.ลาว โดยเป็นหนึ่งในแผนงานยุทธศาตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคนนาคมขนส่งของไทยปี 2558-2565 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าโครงการ 85,345 ล้านบาท ผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ ระยะทางรวม 323.10 กิโลเมตร มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาด เล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง มีลานขนถ่ายสินค้าจำนวน 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่งเนื้อที่ 150 ไร่ ที่สถานีเชียงของ โดยมีแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของและศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของที่กำลังก่อสร้างอยู่ด้วย

นายอาคม กล่าวด้วยว่า โครงการนี้มีจุดเด่นคือเป็นรถไฟรางคู่ที่ไม่มีจุดตัดทางแยกเพื่อเพิ่มความปลอดภัย โดยมีรั้วกั้นตามรายทางและออกแบบสะพานให้เฉพาะเพื่อให้รถยนต์ข้ามทางรถไฟไปตลอดแนว  มีสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟรวมประมาณ 254 จุด รวมทั้งมีอุโมงค์คู่เมื่อต้องผ่านภูเขาระยะทางประมาณ 13.9 กิโลเมตร ทำให้สะดวกสบายสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 5,600 คนต่อวัน และในปี 2595 จะพัฒนาเพื่อรองรับได้ถึง 9,800 คนต่อวัน ส่วนการขนส่งสินค้าประเมินว่าจะมีการเติบโตของสินค้าประมาณร้อยละ 4.65 ต่อปี ในปี 2566 จะรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 413,417 ทีอียูต่อปี ในปี 2566 และปี 2595 จะเพิ่มขึ้นเป็น 951,955 อีทียูต่อปีต่อไป ซึ่งจะทำให้การนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านด่านเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30-40 ต่อปีด้วย เส้นทางยังเชื่อมรถไฟของ สปป.ลาว-เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน สามารถขนส่งสินค้าเชื่อมภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไปถึงท่าเรือแหลมฉบังของประเทศไทยซึ่งจะพลิกโฉม จ.เชียงราย ให้เป็นโลจิสติกส์ซิตี้ของภูมิภาคนี้ในอนาคต

นายอาคม กล่าวต่อไปอีกว่าโครงการนี้มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ปี 2503 หรือกว่า 58 ปี ซึ่งก็ยืนยันว่าไม่ต้องรอกันอีกต่อไป เพราะเดิมแผนงานจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2568 แต่ตนเห็นว่าระยะทางไกลเพียง 323.10 กิโลเมตรจึงได้ขอให้ย่นระยะเวลาเหลือให้แล้วเสร็จในปี 2566 โดยส่วนที่อาจทำให้ช้าลง เช่น การขุดเจาะอุโมงค์ยาว 13.9 กิโลเมตรและจุดที่ยาวที่สุดคือ 6.4 กิโลเมตรเขต จ.แพร่ นั้นก็อาจจะขอให้ทาง กฟท.ใช้การแยกสัญญาจ้างก่อสร้างเพราะไม่ต้องไปรอการเวนคืนที่ดินเหมือนพื้นราบทั่วไป

“รถไฟที่ใช้จะเป็นเครื่องรุ่นใหม่ โดยมีความเร็วตามปกติ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ความเร็วจริงที่ทำได้บนรางคือประมาณ 120-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งก็ถือว่าเร็วและตรงเวลากว่ารถยนต์ รวมทั้งเป็นรางคู่ไม่ต้องหลีกทางกัน ทั้งนี้ยังจะสามารถเชื่อมแหลมฉบัง-กรุงเทพฯ-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งก็กำลังพิจารณาให้มีการพัฒนาการเดินรถระยะสั้นตามสถานีต่างๆ โดยอาจให้เอกชนเข้าบริการเดินรถเพื่อรองอำนวยความสะดวกการโดยสารเดินทาง ซึ่งจะสร้างวัฒนธรรมการเดินทางใหม่ทางรถไฟให้คนไทยแทนรถยนต์ จากสถานียังพัฒนารถโดยสารเชื่อมโยงการเดินทางและไม่ให้ไกลจากสนามบินมากนัก และในอนาคตเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงของ จะเป็นรางคู่เท่านั้นโดยกำลังพัฒนาเส้นทางจากปากน้ำโพ-เด่นชัย เพื่อต่อเชื่อมถึงกันต่อไป” นายอาคม กล่าว.