น้ำโขงวิกฤต ต้องเฝ้าระวัง
เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักทั่วพื้นที่ตอนบนของ จ.เชียงราย โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียราย ได้ตรวจวัดระดับน้ำตรงบริเวณหน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน ชายแดนไทย-สปป.ลาว พบว่ามีความลึกประมาณ 6.98 เมตร ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อวานนี้ ที่ลึกประมาณ 6.30 เมตร ขณะที่สถานการณ์ริมฝั่งพบว่าน้ำได้เข้าท่วมบริเวณจุดผ่อนปรนแจมป๋อง บ้านแจม หมู่ 5 ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย จนเอ่อล้นเข้าท่วมอาคารที่ทำการของเจ้าหน้าที่ที่ตั้งอยู่ทางเข้าออกท่าเรือและทำให้ต้องย้ายขึ้นมาทำงานกันด้านบน
ส่วนที่จุดผ่อนปรนบ้านหาดบ้าย หมู่ 1 ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ก็ถูกน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่ริมฝั่งที่เป็นท่าเรือทำให้ผู้สัญจรไปมาและเคยมีการสร้างอาคารชั่วคราวไว้ใกล้ท่าเรือต้องขนย้ายข้าวของขึ้นมาให้ห่างจากฝั่ง
ขณะที่บริเวณผาถ่าน ซึ่งมีโขดหินปรากฎให้เห็นและเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อผาถ่านพบว่าน้ำได้ท่วมจนเห็นแต่ศาลเหนือโขดหินที่อยู่เหนือน้ำเท่านั้น นอกจากนี้พบว่าพื้นที่ทางการเกษตรริมฝั่งซึ่งมักปลูกข้าวโพดและข้าวไร่ ตั้งแต่ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น ตลอดแนวถูกน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง บ้านเรือนที่อยู่ในที่ลุ่มต้องขนย้ายข้าวของหนีน้ำขณะที่สภาพอากาศยังคงมีฝนโปรยลงมาเกือบตลอดทั้งวันและท้องฟ้ายังคงมืดครึ้ม
โดยนายสุรนาท ศิริโชติ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย กล่าวว่า ระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากฝนที่ตกลงมาเหนือน้ำ และจากการตรวจสอบข้อมูลจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซีทราบว่าปริมาณน้ำฝนทางตอนเหนือของแม่น้ำโขงได้ลดลงแล้ว กระนั้นก็ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางอำเภอ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย ฯลฯ ให้เฝ้าระวังร่วมกัน
ทางด้านนายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของ ได้เรียกประชุมผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้านกำนันและฝ่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อเตรียมความพร้อมรับอุทกภัยริมฝั่งดังกล่าวแล้ว โดยได้กำหนดแผนเฝ้าระวังเป็น 3 พื้นที่คือ พื้นที่หมู่บ้านริมฝั่งที่อาจประสบกับน้ำที่ขึ้นสูงแบบฉับพลันจึงให้พร้อมเคลื่อนย้ายออกจากบ้านเรือนได้อย่างรวดเร็ว พื้าที่ติดภูเขาให้ระมัดระวังเรื่องดินสไลด์ และพื้นที่ติดลำห้วยหรือแหล่งน้ำภายในให้เฝ้าระวังเรื่องน้ำไหลหลาก
“ปัจจัยที่ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงมีมากคือฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องและการปล่อยเขื่อนจิ่งหงที่ประเทศจีน ซึ่งทางอำเภอก็ได้ประสานงานกับทางกรมเจ้าท่าอย่างต่อเนื่องเพื่อเฝ้าดูปริมาณน้ำแล้ว” นายทัศนัย กล่าว.