ข่าวเด่น

ผลักดันเขตอุทยานถ้ำหลวงมีทั้งหนุนและเกรงเกิดผลกระทบ

เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2561 จากกรณีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่ากำลังเตรียมผลักดันให้วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยกระดับเป็นอุทยานแห่งชาติ พบว่าในปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ยังไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมากนัก โดยต่างมีการแสดงความคิดเห็นทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) เมื่อปี 2529 แจ้งว่าในปัจจุบันวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน มีเนื้อที่ 5,448.81 ไร่ โดยเป็น 1 ใน 36 เขตวนอุทยานและถือเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน แต่ได้รับการดูแลโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน รวมทั้งติดต่อกับเทือกเขาหลายลูกที่เป็นชายแดนไทย-เมียนมา ในปัจจุบันมีถ้ำหลายแห่งอยู่ในเขต

โดยน.ส.ศรินรัตน์ พฤกษาพันธ์ทวี เจ้าของกิจการร้านกาแฟ “ภูฟ้าซาเจ๊ะ” ตั้งอยู่หมู่บ้านผาหมี หมู่ 6 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเรื่องการจะประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ จึงอยากจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียเพื่อจะได้นำมาพิจารณาหรือปรับตัวกันต่อไป รวมทั้งไม่ทราบขอบเขตของพื้นที่ที่จะจัดตั้งด้วย เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในการรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน จึงไม่แน่ใจว่าหากเป็นเขตอุทยานแห่งชาติจะครอบคลุมหรือขยายไปมากน้อยเพียงใด

“กรณีมีชาวบ้านอยู่ในเขตที่จะประกาศนั้นตนก็เกรงว่าจะได้รับผลกระทบเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเพราะบางเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ชาวบ้านบางส่วนเช่าอาศัยและทำกินอยู่จึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ และพวกเขาก็อยู่มานานตั้งแต่บรรพบุรุษก่อนการประกาศเป็นเขตวนอุทยานเมื่อปี 2529 เสียอีก ดังนั้นจึงอยากให้เจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลหรือรายละเอียดก่อนจะดำเนินการใดๆ ด้วยเพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือปรับตัวได้ทัน” น.ส.ศรินรัตน์ กล่าว

ทางด้านนายอนุภาส ปฏิเสน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย เขต อ.แม่สาย กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวประกาศเป็นเขตวนอุทยานมานานมากกว่า 30 กว่าปีจากการสอบถามข้อมูล ทราบว่าด้วยเนื้อที่จำนวนมากดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้รับงบประมาณปีละเพียงประมาณ 450,000 บาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดพื้นที่ ทำให้ที่ผ่านมาการพัฒนาเป็นไปด้วยความยากลำบาก ครั้นท้องถิ่นทุกระดับทั้ง อบจ.และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อยากจะเข้าไปช่วยพัฒนาก็ทำไม่ได้เต็มที่เพราะต้องนำเสนอเรื่อผ่านกรมอุทยานแห่งชาติก่อน ทำให้พื้นที่มีสภาพที่ไม่ได้รับการพัฒนากระทั่งเกิดเหตุการณ์ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 คนไปติดถ้ำหลวง

“เห็นว่าแนวทางการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติฯ ถือเป็นทางเลือกที่ดีเพราะจะได้มีการจัดสรรงบประมาณเข้าไปพัฒนาฟื้นฟูสภาพพื้นที่ได้มากขึ้นและเขตดังกล่าวยังสามารถจัดเก็บรายได้เองเพื่อนำมาบริหารจัดการภายในอีกด้วย โดยเฉพาะในอนาคตเชื่อว่าหากมีการเปิดให้เข้าชมถ้ำหลวงได้อีกครั้งจะมีผู้คนจากทั่วโลกมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านก็สามารถจำหน่ายสินค้าสร้างรายได้ อย่างไรก็ตามก็ถือเป็นเพียงแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น โดยอาจมีวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสมกว่าหากว่าการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติมีผลกระทบเกินไป โดยหากมีวิธีการที่จะพัฒนาพื้นที่ให้ดีมากกว่าการเป็นวนอุทยานก็ควรนำมาพิจารณาดำเนินการได้ต่อไป” นายอนุภาส กล่าว.