ข่าวเทศบาลนครเชียงราย

เทศบาลนครเชียงรายใช้มาตรการเชิงรุก ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก

เทศบาลนครเชียงราย ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขในเขตเทศบาล ให้ความรู้ประชาชนในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ งานเวชกรรมสังคม กองการแพทย์ ดำเนินการพ่นหมอกควันเคมีกำจัดยุง ภายหลังพบการระบาดของโรคไข้เลือดออก ในพื้นที่
นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในจังหวัดเชียงราย ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2561 มีผู้ป่วยในเขตเทศบาลนครเชียงรายจำนวน 29 ราย ประกอบกับจากหนังสือของสำนักงานสาธารณสุขเชียงราย ได้แจ้งสถิติในจังหวัดมีการระบาดต่อเนื่องเกิน 28 วัน และมีจำนวนผู้ป่วยเกินค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง (2556-2560) จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการป้องกันควบคุมโรคอย่างเร่งด่วนแล้ว อาจก่อให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของโรคไข้เลือดออกได้
จากสถานการณ์ดังกล่าว เทศบาลนครเชียงรายโดยกองการแพทย์ ได้จัดทีมเฉพาะกิจออกดำเนินการพ่นหมอกควันเคมีกำจัดยุงลาย ฉีดพ่นบริเวณ ชุมชน ศาสนสถาน และสถานศึกษาในเขตเทศบาล เพื่อควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก และบูรณาการร่วมกันกับสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย อาสาสมัครสาธารณสุขในการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้าน วัด โรงเรียน ศาสนสถาน ซึ่งเป็นวิธีป้องกันไข้เลือดออกที่ดีที่สุด
นอกจากนี้ยังได้เร่งดำเนินการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนได้ทราบเกี่ยวกับมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้านให้สะอาด โปร่งโล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง /เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน ทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้งไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง /และเก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝามิดชิดหรือปล่อยปลากินลูกน้ำ ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัส ซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และดูแลทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดไป
สำหรับอาการของโรคไข้เลือดออกนั้น หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5 -8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ตาลอย อุณหภูมิ 38.5 – 40.0 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2 – 7 วัน อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด ไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูก หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน มีจุดแดงเล็กๆ ตามแขน ขา ลำตัว หากมีอาการไข้สูง 2 วัน กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ในการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่บ่อยๆ เช็ดตัวเพื่อลดไข้ รับประทานอาหารอ่อนๆ งดอาหารที่มีสีคล้ายเลือด และทานยาตามแพทย์สั่ง ห้ามกินยาแอสไพรินหรือ ไอบูโพรเฟน เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย ช่วงที่ไข้ลด ประมาณวันที่ 3 – 4 จะต้องเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดภาวะช็อคได้ สังเกตอาการจาก ผู้ป่วยจะซึม อ่อนเพลียมาก กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบา เร็ว ปวดท้องกะทันหัน กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยลง เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดำ ขอให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีเพื่อลดการเสียชีวิต
ด้วยความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน ทางเทศบาลนครเชียงรายจึงได้เร่งดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน  ในการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อในเขตเทศบาลนครเชียงราย  สำหรับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือในการดำเนินการพ่นหมอกควันเคมีกำจัดยุง สามารถติดต่อได้ที่งานเวชกรรมสังคม  กองการแพทย์ เบอร์โทรศัพท์ 053-150270