ข่าวเด่น

สธ.ชี้ เตรียมหมอหอบหืด 2 ราย พร้อมแยก 13 หมูป่า ห่างพ่อแม่ก่อน 1-2 วัน 

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 4 ก.ค.2561 ที่อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน 14 ชั้น โรงพยาบาลเชียรายประชานุเคราะห์ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 นายแพทย์ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย และนายแพทย์ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้ตรวจดูห้องสามัญอุบัติเหตุ ชั้น 8 ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่ใช้ดูแลรักษานักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่า ที่ยังอยู่ภายในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย

โดยนายแพทย์เจษฎา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนบุคลากร ยาและอาหาร ในการช่วยเหลือทั้ง 13 คน มาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพบตัวแล้วก็จัดเตรียมสถานที่โดยพร้อมทั้งการรองรับกรณีเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์จากจุดเกิดเหตุไปยังฝูงบิน 416 (สนามบินเก่า) ใกล้กับโรงพยาบาล ระยะเวลาประมาณ 15 นาที และกรณีเดินทางโดยรถยนต์ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

สำหรับห้องสามัญอุบัติเหตุดังกล่าวถูกจัดให้มีศักยภาพเทียบเท่าห้องผู้ป่วยหนักหรือไอซียู ที่มีผู้ดูแลชนิดคนต่อคนและมีการจัดสถานที่พักเฉพาะให้ญาติที่ได้แจ้งลงทะเบียนเอาไว้กว่า 50 คน เพื่อให้สามารถ
เข้าเยี่ยมบุตรหลานได้เป็นระยะๆ นอกจากนี้กรณีญาติหรือเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติงานที่ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน หากพบอาการป่วยสามารถแจ้งแพทย์ได้โดยมีการมอบบัตรเฝ้าระวังโรคให้คนละใบและมีสายด่วน 053910600 ต่อ 22222 กรณีป่วยด้วย

นายแพทย์เจษฎา กล่าวด้วยว่า แนวทางการดูแลรักษาทั้ง 13 คนต้องประเมินอาการโดยแพทย์ก่อน 5-7 วันหลังออกจากถ้ำโดยเริ่มต้นด้วยการปรับอาหาร 3-7 วัน ซึ่งก็ต้องดูก่อนว่าจะออกจากถ้ำได้เมื่อไหร่ หากยังอยู่ในถ้ำนานและเสร็จสิ้นขั้นตอนให้อาหารเหลวแล้วก็จะส่งอาหารปกติเข้าไปให้เพื่อให้ร่างกายปรับตัว แต่เท่าที่ทราบพบว่าทั้งหมดสุขภาพกายแข็งแรงและพูดคุยได้ สุขภาพจิตดี สดชื่น ส่วนหนึ่ง คือ เกิดจากกำลังใจที่ได้รับ หากเมื่อเด็กๆ เดินทางมาถึงโรงพยาบาลสิ่งที่ต้องทำคือตรวจเลือด ตรวจหาเชื้อ ตรวจอาการต่างๆ และจากประวัติพบว่ามีผู้ที่มีอาการหอบหืดจำนวน 2 คนจึงได้จัดแพทย์
เฉพาะทางด้านทางเดินหายใจและปอดรองรับแล้ว

นายแพทย์เจษฎา กล่าวอีกว่า ภายในถ้ำที่มืดที่ไม่มีคนหรือสิ่งมีชีวิตก็เป็นเรื่องที่ต้องดูกันว่าจะมีเชื้อโรคต่างๆ หรือไม่ ดังนั้นเราจึงต้องจัดให้ห้องสามัญอุบัติเหตุดังกล่าวเป็นห้องปลอดเชื้อ ผู้เข้าออกต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยและเสื้อผ้าที่จัดเตรียมไว้ ภายในห้องมีระบบตรวจหัวใจ เครื่องกระตุ้นหัวใจ ดูดเสมหะ ตรวจชีพจร ฯลฯ เทียบเท่าห้องไอซียู ส่วนทั้ง 13 คนเริ่มแรกคงต้องให้ใส่แว่นตากันแดดหรือใช้ผ้าปิดก่อนโดยจักษุแพทย์ดูเป็นการเฉพาะ สำหรับสุขจิตของญาติๆ กรมสุขภาพจิตแจ้งว่าก่อนมีข่าวพบทั้ง 13 คนภายในถ้ำ ได้มีผู้ปกครองมีอาการซึมเศร้าจำนวน 6 คน แต่หลังจากพบทั้งหมดก็มีอาการดีขึ้นอย่างมาก

“ช่วงแรกคงต้องให้ทั้งหมดอยู่ในห้องดูแลก่อน 1-2 วัน โดยให้ผู้ปกครองและญาติอยู่ที่บ้านพักก่อน จากนั้นจึงเปิดให้เข้าเยี่ยม ได้แต่ยังคงให้สวมเสื้อเสื้อผ้าและหน้ากากอนามัยให้มิดชิด รวมทั้งอยู่ห่างระยะ 2 เมตร กระนั้นเนื่องจากพบว่าทั้ง 13 คนสุขภาพแข็งแรง จึงจะดูอาการและตัดสินใจเรื่องการดำเนินการกันเป็นครั้งๆ ไป ในปัจจุบันทีมแพทย์รักษามีการติดต่อทางวิดีโอคอนเฟอร์เร้นซ์กับภายในถ้ำแล้วเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและรองรับกรณีนำเดินทางไปถึงโรงพยาบาลดังกล่าว ส่วนการจะสรุปได้ว่าทั้ง 13 คนจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้หลังกระบวนการผ่านพ้นไป 5-7 วันแล้วหรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้เพราะต้องผลการตรวจต่างๆ ก่อนโดยเฉพาะการตรวจบางเชื้อต้องส่งไปยังกรุงเทพฯ และต้องปรับดูผลกันวันต่อวันด้วย” นายแพทย์เจษฎา กล่าว.