ข่าวเด่น

“เฉลิมชัย” ลั่น! วัดร่องขุ่นห้ามเงินเกิน 200 ล. เกินยกให้ รพ.

อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติผู้สร้างศิลปะวัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ชาวเชียงราย จนมีชื่อเสียงดังไปทั่วโลก กล่าวว่า ตนเองได้ทุ่มเทชีวิตในการสร้างศิลปะที่วัดร่องขุ่นให้เป็นสมบัติของชาติมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันได้รับการจัดอันดับให้เป็นวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยที่สุดในโลกเป็นอันดับ 3 ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก โดยในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาเยือนวัดร่องขุ่นในช่วงโลว์ซีซั่นมากถึงกว่า 2,200-2,600 คนต่อวัน และในช่วงไฮซีซั่นจะสูงถึงกว่า 3,000-4,500 คนต่อวัน ทำให้สถิตินักท่องเที่ยวที่ไปเยือนวัดร่องขุ่นต่อปีสูงขึ้นอย่างมหาศาล

อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่า ในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ดำเนินการนำสายไฟฟ้าและเคเบิ้ลบริเวณถนนหน้าวัดร่องขุ่นให้ลงสู่ใต้ดินหมด ทำให้วัดมีทัศนียภาพที่งดงามยิ่งขึ้นจึงทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่รสนิยมด้านความงดงามเดินทางไปเยือนมากขึ้นอีกด้วย ขึ้น ดังนั้นตนจึงได้วางแผนเพื่อรองรับอนาคตเพื่อให้วัดร่องขุ่นป็นวัดของประเทศชาติอย่างแท้จริงต่อไป โดยการจัดระบบการบริหารภายในต่อพนักงานภายในวัดที่มีอยู่ประมาณ 150 คนให้มีระบบลงตัว สามารถบริหารจัดการกันเองได้เมื่อตนเสียชีวิตไปแล้ว การบัญชีเรื่องเงินที่เข้าบัญชีของวัดทั้ง 3 บัญชีและเงินที่ออกจากบัญชีตลอดระยะเวลาประมาณ 30 ปีได้รับการบันทึกและจัดส่งสำนักพระพุทธศาสนาอย่างละเอียดแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในทุกขั้นตอน ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้สถานที่อื่นๆ นำไปปฏิบัติได้ในภายภาคหน้า

อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า ในอนาคตวัดจะสามารถอยู่ได้ด้วยการบริหารจัดการกองทุนของวัดเอง โดยกำหนดให้มีเงินกองทุนภายในวัดได้ไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยส่วนนี้จะนำมาใช้เพื่อบริหารจัดการภายใน ซ่อมแซมและบำรุงวัดโดยไม่มีการก่อสร้างเพิ่มเติมต่อไปอีกหากว่าตนได้จากไปแล้วซึ่งได้คำนวนแล้วว่าจำนวนเพียงแค่นี้เพียงพอ ส่วนรายได้ที่เข้าสู่บัญชีวัดที่เกินไปกว่านี้จะนำไปบริจาคทางสาธารณะโดยมุ่งไปที่ด้านสาธารณสุขคือโรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงรายเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการบริจาคนำร่องไปก่อนหน้านี้แล้วเพียงแต่สังคมอาจจะยังไม่รับทราบมากนัก นอกจากนี้ยังมีแผนให้บริจาคไปยังสถานที่เพื่อการกุศลอื่นๆ เช่น โรงเรียน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

“อย่างไรก็ตามวัดยังคงการบริหารเพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่งดงามเหมือนเดิม โดยภายในวัดจะไม่อนุญาตให้มีการนำสิ่งของไปค้าขายใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อมีการนำสายไฟฟ้าลงดินหมดแล้วก็ยิ่งสวยงาม ส่วนบริเวณด้านหน้าวัดที่เป็นศูนย์อาหารและร้านค้าต่างๆ นั้นแท้ที่จริงแล้วอยู่ในเขตนอกพื้นที่วัด แต่ตนได้เข้าไปช่วยแนะนำให้มีการก่อสร้างและจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมลงตัวกับสถานที่ท่องเที่ยวอย่างวัดร่องขุ่น ซึ่งบรรดาร้านค้าอาคารต่างๆ ต่างเห็นความสำคัญและร่วมมือกันเป็นอย่างดี” อาจารย์เฉลิมชัย กล่าว.