มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) รวบรวมตำรายาล้านนา กว่า 100 ตำราใบลาน ชี้ยังมีมากมายนำวิจัยใช้ประโยชน์อนาคต
วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปัจจุบันที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย ได้เก็บรวบรวมใบลาน กระดาษสาหรือปั๊บสา เอาไว้ไม่น้อยกว่า 100 รายการ โดยส่วนใหญ่เป็นอักษรล้านนา หรือ กำเมือง ลงในใบลานมีเนื้อหาเป็นตำรายารักษาโรคต่างๆ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณมีอายุตั้งแต่ประมาณ 80-100 ปี นอกจากนี้ยังมีการบันทึกภาพและมีการปริวรรตหรือแปลเป็นเอกสารให้คนทั่วไปได้อ่านเข้าใจอีกด้วย
โดยอาจารย์ชูชาติ ใจแก้ว นักวิชาการพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ผู้ถ่ายอักษรจากภาษาโบราณมาเป็นภาษาไทยยุคปัจจุบันหรือ “ปริวรรต” และจัดทำเป็นข้อความประกอบภาพ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันมีตำรายาโบราณต่างๆ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณหลงเหลืออยู่ตามท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก และเมื่อนำมาปริวรรตแล้วพบว่าทรงคุณค่าและควรแก่การอนุรักษ์ไว้ โดยข้อความบางตอน เช่น เมื่อเข้าหัวใจมีอาการจุกเสียดขึ้นหน้าอก ให้นำใบผักกุ่ม ใบผีเสื้อ 7 ใบ ใบหนาด 7 ใบ คางแดง หอยลม เอาผ้าดำมาห่อ รมไฟให้สุก แล้วเอามาตำเป็นผงไว้ใส่หม้อนุ่ง น้ำอุ่น กินและทาทำให้หายขาด เป็นต้น หรือบางใบลานเป็นข้อแนะนำการรับประทานอาหารในแต่ละวัยเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี เป็นต้น
อาจารย์ชูชาติ กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้กรมการแพทย์แผนไทยได้ดำเนินโครงการสำรวจตำราโบราณทั่วประเทศ สำหรับ จ.เชียงราย มีตนเป็นหัวหน้าโครงการและได้สำรวจพบว่ามีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากได้จัดส่งข้อมูลให้กรมการแพทย์แผนไทยแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ได้ทำการศึกษาต่อพบว่าข้อความในตำราโบราณเป็นองค์ความรู้เฉพาะกลุ่มคือแพทย์พื้นบ้านหรือหมอเมืองรวมทั้งมีเคล็ดลับแฝงอยู่มากมาย จึงได้ร่วมกับสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ทำการวิจัยเพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในยุคปัจจุบันได้ต่อไป
“จากการที่พิพิธภัณฑ์ลงพื้นที่สำรวจในปี 2560 ตามวัดต่างๆ ทั้ง 18 อำเภอๆ ละ 6-7 วัด ได้พบตำราต่างๆ โดยบางวัดพบเพียง 1-2 รายการ บางวัดพบกว่า 10 รายการ โดยพบมากที่สุดที่วัดสันกอง ต.โรงช้าง อ.ป่าแดด จ.เชียงราย เพราะพระภิกษุท่านมีความเข้าใจจึงได้เก็บรักษาเอาไว้อย่างดี ทางพิพิธภัณฑ์จึงได้ถ่ายสำเนาเอาไว้และทำการปริวรรตดังกล่าว จากนั้นก็จะถวายความรู้เรื่องการดูแลรักษาใบลานโบราณให้กับทางวัดเพื่อให้มีความคงทน เช่น ใบลานจะมีแผ่นไม้ยาวเป็นหน้าปกหลังเพื่อไม่ให้งอเข้าหากันและต้องมีการเปิดออกเป็นบางเวลาเพื่อไม่ให้ใบลานติดกันเพราะถ้าติดกันแล้วจะทำให้ชำรุดเสียหายได้ เป็นต้น กระนั้นก็พบอุปสรรคเรื่องเอกสารไม่สมบูรณ์หรือ อักษรเลือนหายจึงทำให้ใช้เวลาในการปริวรรตอยู่นาน” อาจารย์ชูชาติ กล่าว.