เทศบาลนครเชียงรายเดินหน้าเมืองอาหารปลอดภัย ทำแปลงสาธิตปลูกผักปลอดสารที่หาดเชียงราย
วันที่ 7 สิงหาคม 2566 นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นางรัตนา จงสุทธานามณี นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย ในฐานะ ที่ปรึกษาเทศบาลนครเชียงราย นายธเนศ โกมลธง รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย นางบังอร มะลิดิน รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย พร้อมด้วย คณะผู้บริหารเทศบาลนครเชียงราย พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรีดุจเดี่ยว วงศ์ภักดิ์ เกษตรจังหวัดเชียงราย รวมทั้งผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครเชียงราย ร่วมกันเปิด “โครงการพัฒนานครเชียงราย สู่เมืองแห่งความสุข 3 มิติ แปลงสาธิตเกษตรปลอดภัย นครเชียงราย” รวมทั้ง “โครงการเพิ่มศักยภาพกลุ่มแกนนำชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงราย กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ปลูกพืชผักปลอดสารพิษ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ณ แปลงสาธิตเกษตรปลอดภัย (หาดเชียงราย) ชุมชนป่างิ้ว เทศบาลนครเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมี นายสมบูรณ์ หิรัญโชติ ปลัดเทศบาลนครเชียงราย นายอิทธิพล สุนทรสีมะ รองปลัดเทศบาลนครเชียงราย พ.จ.อ.ภูมิรพี ทวีกสิกรรม รองปลัดเทศบาลนครเชียงราย นำข้าราชการเทศบาลนครเชียงราย เจ้าหน้าที่ สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงราย ผู้นำชุมชนที่ในพื้นที่ ชุมชนใกล้เคียง และชาวชุมชนป่างิ้ว นักเรียนโรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า เข้าร่วมในกิจกรรมฯ
นายสมบูรณ์ หิรัญโชติ ปลัดเทศบาลนครเชียงราย กล่าวว่า โครงการพัฒนานครเชียงราย สู่เมืองแห่งความสุข 3 มิติ แปลงสาธิตเกษตรปลอดภัย นครเชียงราย เพื่อต้องการให้พื้นที่เทศบาลนครเชียงราย เป็นเมืองอาหารปลอดภัยอย่างแท้จริง ซึ่งจะต้องเริ่มต้น ตั้งแต่กระบวนการปลูก ดูแล และนำผลผลิตออกจำหน่าย ซึ่งจะต้องปลอดภัยจากสารพิษ เพื่อให้พืชผักเหล่านี้ถึงมือผู้บริโภคอย่างปลอดภัย และยังทำให้มีศูนย์การเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ของการปลูกผัก ที่ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต หรือเรียกว่า สมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) เกษตรอัจฉริยะ
นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นอีกแนวคิดที่ทางคณะผู้บริหาร ต้องการให้เขตเทศบาลนครเชียงราย เป็นเมืองอาหารปลอดภัยอย่างแท้จริง ที่จะต้องเริ่มตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พร้อมกันนี้ ย้งได้นำสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) เกษตรอัจฉริยะ มาปรับใช้ในพื้นที่ดังกล่าว ที่เกษตรกรทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ และนำกลับไปปรับใช้ได้ทันที และยังจะมีพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำกับการทำเกษตรอัจฉริยะ นั้นคือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการพัฒนาทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรไปจนถึงผู้บริโภค (From Farmer to Market)
เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิต ลดต้นทุน รวมทั้ง พัฒนามาตรฐานสินค้า หลักการของแนวคิด “Smart Farm” คือ ความพยายามยกระดับการพัฒนาเกษตรกรรมใน 4 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1) การลดต้นทุนในกระบวนการผลิต 2) การเพิ่มคุณภาพมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานสินค้า 3) การลดความเสี่ยงในภาคเกษตร ซึ่งเกิดจากการระบาดของศัตรูพืชและจากภัยธรรมชาติ และ 4) การจัดการและส่งผ่านความรู้ ในมิติของผลผลิต “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” จะเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัยต่อ ผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม.