ข่าวเด่น

จังหวัดเข้มจับ MOU ผู้ประกอบการขนส่ง

หลังยาบ้าระบาดหนักแอบส่งพัสดุ จังหวัดเข้มจับเอ็มโอยูผู้ประกอบการขนส่ง

เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องพญาพิภักดิ์ ศาลากลาง จ.เชียงราย นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยูระหว่าง จ.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโดย สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ภาค 5 ฝ่ายปกครอง ตำรวจและทหาร กับผู้ประกอบการขนส่งพัสดุด่วนเอกชนจำนวน 16 รายและการขนส่งพัสดุด้วยรถโดยสารประจำทางจำนวน 7 ราย ตามโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบส่งยาเสพติดทางระบบขนส่ง โดยนายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ ปลัด จ.เชียงราย นำผู้ประกอบการเข้าร่วมครบครันส่วนหน่วยงานภาครัฐ มี พ.อ.สิงหนาท โลสุยะ ผู้แทนจากมณฑลทหารบกที่ 37 พ.ต.อ.ธนะรัชต์ ชุ่มสวัสดิ์ ผู้แทนจาก ภ.จว.เชียงราย ร่วมลงนามด้วย

ทั้งนี้การลงนามดังกล่าวมีเนื้อหาให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันเข้มงวดกวดขันในการส่งพัสดุภัณฑ์ต่างๆ เพื่อป้องกันการใช้เป็นช่องทางในการขนยาเสพติดเข้าสู่ชั้นในของประเทศโดยเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนให้มากขึ้นกว่าเดิม และหากพบพัสดุภัณฑ์ต้องสงสัยหรือผิดกฎหมายรวมทั้งข้อพิรุธให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปตรวจสอบ รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปตรวจสอบด้วยขณะเดียวกันก็ร่วมกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการใช้ช่องทางพัสดุภัณฑ์ในการขนส่งยาเสพติดในระยะยาวด้วย

โดยนายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์ยาเสพติดนั้นยังคงมีความพยายามลักลอบนำเข้าสู่ชั้นในของประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลข่าวสารก็พบว่าไปจากเพียง 2 จังหวัดภาคเหนือคือ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ โดยกลุ่มขบวนการใช้วิธีการต่างๆ นานา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือพัสดุขนส่ง ดังนั้นจึงถือเป็นการริเริ่มความร่วมมือ โดยขอให้ผู้ประกอบการได้ไปดูแลกิจการของตนเริ่มตั้งแต่การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้ตระหนักถึงความสำคัญ หากต้องการการฝึกที่ดีก็สามารถประสานกับทาง ปปส.และจังหวัดได้ สิ่งสำคัญคือการตรวจบัตรประจำตัวประชาชนผู้ไปส่งพัสดุภัณฑ์ให้ต้องมีไปแสดงทุกคนและมีวิธีการตรวจดูให้ตรงกับบุคคลผู้ไปส่งจริง หากเป็นไปได้ให้ติดกล้องเพื่อเก็บภาพเพื่อจะได้ติดตามบุคคลได้ถูกต้องหากเกิดกรณีพบยาเสพติดพัสดุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งคาดหวังว่าหลังจากเอ็มโอยูแล้วจะทำให้การลักลอบด้านนี้เบาบางลงต่อไป

ทางด้านนายสัมฤทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาปรากฎข้อมูลข่าวสารหลายครั้งว่าขบวนการค้ายาเสพติดใช้พัสดุภัณฑ์ในการขนส่งทั้งไปรษณีย์ ระบบขนส่งเอกชน ฯลฯ แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐยังไม่สามารถสร้างภาคีเครือข่ายกับผู้ให้บริการรับส่งพัสดุภัณฑ์ดังกล่าวได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเอ็มโอยูในครั้งนี้ และหลังจากลงนามกันแล้ว ทางจังหวัดมีคณะกรรมการเพื่อออกตรวจสอบโดยเริ่มต้นจากการนำรถเอ๊กซเรย์จากด่านศุลกากรแม่สายไปทดลองสุ่มตรวจพัสดุภัณฑ์ตามจุดต่างๆ ต่อไปด้วย

ด้านเจ้าหน้าที่ ปปส.ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการต้องตรวจดูบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลข 13 หลักบนบัตรของผู้ส่งพัสดุภัณฑ์ มีรายละเอียดผู้รับ ฯลฯ ซึ่งหากตรวจพบว่าผู้ประกอบการใดที่ไม่ให้ความร่วมมือในการเข้มงวดกวดขันเรื่องการป้องกันยาเสพติดดังกล่าวก็สามารถถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการได้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือหลายรายเช่นกันจนทำให้สามารถตรวจยึดของกลางยาเสพติดรายใหญ่ๆ ได้หลายราย

รายงานข่าวแจ้งอีกว่าที่ประชุมยังมีการให้แสดงความคิดเห็นซึ่งพบว่าปัญหาที่ยังต้องหาวิธีแก้ไขหลายเรื่อง เช่น การใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอม การให้ผู้อื่นไปส่งพัสดุภัณฑ์แทนผู้ส่งจริง การมีบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่ในสังคมไปใช้บริการและไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจบัตรด้วยดี เป็นต้น

ทั้งนี้คดีล่าสุดที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดยาเสพติดจากการส่งทางพัสดุภัณฑ์รายใหญ่เกิดขึ้นในเขต อ.เมืองเชียงราย โดยเจ้าหน้าที่ตรวจยึดของกลางยาเสพติดยาไอซ์ได้จำนวน 172 ถุง น้ำหนักรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 201 กิโลกรัม บรรจุในกล่องพัสดุภัณฑ์จำนวน 7 กล่องนำไปส่งที่เอกชนรับขนส่งรายหนึ่งแต่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบจึงไปตรวจสอบทำให้คนร้ายซึ่งเป็นชาย 5-6 คน หลบหนีไปได้ทัน.