เทศบาลนครเชียงราย ลุยเดินหน้า”สายไฟลงดิน” พัฒนาเป็นเมืองน่าอยู่ เมืองแห่งการท่องเที่ยว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารเทิดพระเกียรติ 90 ปี สมเด็จพระศรีนครรินทราบรมราชชนนี เทศบาลนครเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ร่วมลงนามสัญญาก่อสร้างระบบเคเบิ้ลไฟฟ้าใต้ดิน กับผู้รับจ้างคือบริษัทศรีชลธร จำกัด และบริษัทแกรนด์ไลน์ อินโนเวชั่น จำกัด โดยมี นายพินิจ แก้วจิตคงทอง รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นสักขีพยาน โครงการเป็นการว่าจ้างเอกชนปรับปรุงสายไฟฟ้าลงใต้ เส้นทางภายในเขตเทศบาลนครเชียงราย รวม 3 เส้นทาง ดังนี้ เส้นทางที่ 1 : ขัวพญามังราย – แยกร้านข้าวต้มเมืองทองเลี้ยวไปตามถนนประสพสุข เส้นทางที่ 2 : ถนนธนาลัยเริ่มต้นจากแยกประตูเชียงใหม่ – สี่แยกศาลจังหวัดเชียงราย เส้นทางที่ 3 : ถนนธนาลัยเริ่มต้นจากสี่แยกศาลจังหวัดเชียงราย-โรงงานยาสูบจังหวัดเชียงราย -ถนนหนองสี่แจ่ง – แยกกำแพงเมือง รวมระยะทาง 3,360 เมตร โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.2565 เป็นต้นไป ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 360 วัน
โดยนายวันชัย กล่าวว่า ในปัจจุบันเทศบาลนครเชียงรายได้จัดเตรียมความพร้อมในการรองรับการเติบโตในอนาคต โดยมีแนวทางให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ เมืองแห่งการท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม การลงทุน ฯลฯ เรียกว่าเป็นเมืองที่มีความสมบูรณ์แบบรองรับการฟื้นตัวของโลกในอนาคต โดยกรณีของการนำสายไฟฟ้าลงทุนและพัฒนาไปสู่ระบบเคเบิ้ลใต้ดินถือเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบของการพัฒนาให้ทัดเทียมกับเมืองต้นแบบอื่นๆ ทั่วโลก เพราะนอกจากจะเป็นการนำเอาสายไฟฟ้าลงดินเพื่อความงดงามของบ้านเมือง ทำให้เกิดความปลอดภัย แก้ปัญหานกย้ายถิ่น ซึ่งจะอาศัยอยู่บริเวณสายไฟฟ้าแล้วถ่ายมูลเป็นจำนวนมาก ฯลฯ ยังจะมีการทำข้อตกลงกับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ นำสายบริการต่างๆ นำสู่สายเคเบิ้ลใยแก้ว ให้นำลงดินไปพร้อมๆ กันอีกด้วย ซึ่งระบบเหล่านี้ก็จะรองรับการทำงานของทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ทำให้เกิดระบบออนไลน์ที่รวดเร็วและเสถียรกว่าระบบไร้สายได้
นายวันชัย กล่าวด้วยว่า โครงการนี้ใช้งบประมาณของเทศบาลนครเชียงราย ประมาณ 90 ล้านบาท และเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และเทศบาลนครเชียงราย ที่ทาง กฟภ.จะจัดสรรงบประมาณให้อีก 50% ของงบประมาณทั้งหมด โดยการก่อสร้างจะพยายามให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด และเมื่อแล้วเสร็จจะเกิดประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะการเป็นเมืองที่ทันสมัย Smart City ฯลฯ .