ฟื้นคืน 5 เชียง ฝันมีแผนร่วมโกยนักท่องเที่ยวร่วมปี 30 ล้านคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย ได้ร่วมกับสมาคมสหพันธุ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ 17 จังหวัด สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุม “การสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยว 5 เชียง (เชียงใหม่ เชียงราย เชียงตุง เชียงรุ้ง เชียงทอง) โดยมี นายสมบูรณ์ ศิรเวช รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดและนายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย ท่านจอมศรี ลัดตะนะปัน รองเจ้าแขวงบ่อแก้ว ท่านสุลิทิบ น่อคุนผน หัวหน้าแผนกแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยว แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ท่านผาน จิน รองกงสุลใหญ่แห่งประเทศจีนประจำ จ.เชียงใหม่ นายกิตติ ทิศสกุล ประธานสภาอุตสหกรรมท่องเที่ยว จ.เชียงราย จากตัวแทนเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ นายนภดล จริภักดิ์ ประธานสภาอุตสหกรรมท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ ฯลฯ เข้าร่วม
รวมทั้งมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบนทั้งในประเทศไทยโดยเฉพาะเชียงรายและเชียงใหม่ มณฑลยูนนาน ประเทศจีน สปป.ลาว และเมียนมา เข้าร่วมกว่า 200 ราย กิจกรรมมีการเสวนาเรื่องเส้นทางการท่องเที่ยว 5 เชียงโดยนักวิชาการ นำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยว 5 เชียง ระดมสมองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวร่วมกัน ศึกษาดูงานสถานที่ท่องเที่ยวใน จ.เชียงราย และจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงคาวมร่วมมือในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว 5 เชียงร่วมกันโดยมีตัวแทนเครือข่ายจากทั้ง 5 เชียง 4 ประเทศร่วมลงนาม
โดยนายสมบูรณ์ กล่าวว่า จากสถิติที่ผ่านมาพบว่ามีนักท่องเที่ยวจากพื้นที่ 5 เชียงโดยเฉพาะจากประเทศจีนเดินทางมาท่องเที่ยวที่ จ.เชียงราย และเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.51 และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก การสร้างเครือข่ายร่วมกันจึงสำคัญมากเพราะจะได้ช่วยกันพัฒนาตลาดร่วมกันจนสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้ไปเยือนมากขึ้นต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมยังมีการเสวนาที่น่าสนใจเรื่อง “ความเชื่อมโยงของเส้นทางบก ทางเรือ ทางอากาศ กับโอกาสภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและการค้าการลงทุน” โดยนายกิตติ ทิศสกุล นายกสมาคมสหพันธุ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ 17 จังหวัด และประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย กล่าวว่าคำว่า 5 เชียงนั้นตนได้ยินพูดกันมานานร่วม 20 ปีแล้ว กระทั่งปัจจุบัน 5 เชียงก็ยังคงมีความสำคัญเพราะเชื่อมกลุ่มอาเซียน-จีน สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย จีน สปป.ลาว เมียนมา ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรมในครั้งนี้จึงจะมีการเรียนรู้ข้อมูลร่วมกันเพื่อจะได้นำไปสู่การเขียนแผนการท่องเที่ยวแล้วนำขายสู่ตลาดทั่วโลกร่วมกันได้ต่อไป
ทางด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และนักธุรกิจนำเที่ยวคนสำคัญลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า การเชื่อมโยงการคมนาคมในเขต 5 เชียงยุคปัจจุบันมีแนวโน้มดีมาก โดยกรณีเมืองเชียงตุงนั้นอยู่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งรัฐฉานมีด่านถาวรติดกับประเทศไทยเพียง 1 จุดเท่านั้นคือที่ จ.ท่าขี้เหล็ก เชื่อมกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ห่างจากเชียงตุงเล็กน้อยซึ่งปัจจุบันกำลังพิจารณาจะเปิดให้ใช้ระบบวีซ่าเมื่อไปถึงหรือวีซ่า ออน ออรีวอล เพื่อให้ผู้เข้าไปรัฐฉานสามารถยื่นหนังสือเดินทางระหว่างประเทศหรือพาสปอร์ตที่ด่านได้โดยตรง ส่วนยานพาหนะก็มีข้อตกลงใช้รถระหว่างเชียงราย-เชียงตุง ท่าขี้เหล็กยังมีสนามบินที่มีเครื่องบินให้บริการ 8 สายการบิน ดังนั้นในอนาคตหากมีวีซ่า ออน ออรีวอล ก็จะทำให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เชื่อมรัฐฉานกับเชียงรายคึกคักมากขึ้นแน่นอน
น.ส.ผกายมาศ กล่าวอีกว่า รัฐฉานยังมีเมืองมูเซ จ.ลาเชียว ที่เชื่อมกับเมืองรุ่ยลี่ จ.เต๋อหง เขตปกครองตนเองชนชาติไต-จิงโป มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งมีมูลค่าการค้าร่วมกันมหาศาลสามารถเชื่อมจีน-ตองจี-เชียงตุง ได้ ด้านเชียงรุ้งหรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน นั้นถือว่ามีการพัฒนาและมีนักท่องเที่ยวจีนทะลักลงมาจำนวนมากอยู่แล้วปัจจุบันจีนสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งใหม่และรถไฟความเร็วสูงจะเชื่อมจากกาลัมป้า เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ไปทั่วภูมิภาคโดยเฉพาะรัฐฉานและไปทางหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ด้วย
“ส่วนหลวงพระบางนั้นเป็นตลาดท่องเที่ยวที่สำคัญปัจจุบันเชื่อมโยงกับเชียงใหม่และโดยเฉพาะเชียงรายที่มีการเดินทางไปทางเรือแม่น้ำโขงจาก อ.เชียงของ หรือทางบกผ่าน สปป.ลาว เป็นประจำอยู่แล้ว สภาพดังกล่าวถือได้ว่าการเชื่อมโยระหว่างกันใน 5 เชียงมีพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว หากมีการคมนาคมพัฒาถึงระดับหนึ่งและมีการใช้วีซ่า ออน อะไรวัลอย่างสมบูรณ์ในแต่ละประเทศมากขึ้นยอดนักท่องเที่ยวที่ฝันกันเอาไว้ที่ปีละ 30 ล้านคนก็มีโอกาสเป็นไปได้ในอนาคตแน่นอน” น.ส.ผกายมาศ กล่าว
ด้าน นายวิสูตร คำยอด ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย กล่าวว่าปัจจุบันท่าอากาศยานได้รับอนุมัติจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยให้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง เพราะสภาพของสนามบินที่ จ.เชียงใหม่ กำลังแออัดเต็มที่แล้วจึงต้องมีสนามบินข้างเคียงรองรับ ทั้งนี้เชียงรายมีสายการบินภายในประเทศ 6 สายการบินและระหว่างประเทศ 5 สายการบิน อัตราการเติบโตตั้งแต่เดือน ก.ค.2560-มี.ค.2561 มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 200-300% โดยมีการบินเชื่อมทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ฮ่องกง และอีกหลายเมืองในประเทศจีน ในอนาคตจะมีการบินเชื่อระหว่างรุ่ยลี่-สิบสองปันนา-เชียงราย ในเดือน เม.ย.นี้เป็นต้นไปทุกวันจันทร์ พุธและศุกร์ด้วย รวมทั้งกำลังหารือกับสายการบินที่ประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเพื่อให้บินมายังเชียงรายในอนาคตอีกด้วย
“การขยายตัวดังกล่าวทำให้การท่าอากาศยานได้พัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย หลายด้าน เช่น รันเวย์ให้มีช่องวิ่งเครื่องบินข้างรันเวย์หรือแท็กซี่เวย์ และอื่นๆ ระยะเวลา 5 ปีใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท และการพัฒนาทั้งหมดจะมี 3 ระยะหรือเฟตใช้งบประมาณ 6,000 ล้านบาทแต่เนื่องจากการขยายตัวก็กำลังเสนอให้ย่นระยะเวลาเหลือเพียง 2 เฟตให้แล้วเสร็จต่อไป ทั้งนี้คาดการณ์กันว่าอีก 2 ปีข้างหน้าท่าอากาศยานเชียงใหม่ จะไม่สามารถขยายตัวรับสายการบินได้อีกแล้วทำให้โอกาสจึงอยู่ที่ จ.เชียงราย และจากภูมิศาสตร์พบว่าเชียงรายสามารถบินไปยังกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว และเชียงรุ้งและคุนหมิง ประเทศจีน ด้วยระยะเวลาเท่าๆ กันคือประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าๆ เท่ากันจึงนับว่าได้เปรียบกว่าสนามบินอื่นๆ อย่างมาก” นายวิสูตร กล่าว
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่าการประชุมครั้งนี้ยังเปิดให้เครือข่ายจากประเทศต่างๆ ได้แสดงความเห็นซึ่งส่วนใหญ่นำเสนอว่าในปัจจุบันการคมนาคมภายในประเทศของตนมีการพัฒนามากขึ้น โดยในแขวงบ่อแก้วและหลวงพระบางมีการสร้างถนนเป็นเครือข่ายเชื่อมกับ 5 เชียงมากขึ้น ส่วนในรัฐฉานก็มีการจัดระบบเข้าออกเมืองที่สะดวกและง่ายกว่าในอดีตจึงไม่ใช่ดินแดนที่น่ากลัวเหมือนในอดีตอีกต่อไป ซึ่งที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวยุโรปและอื่นๆ เดินทางไปเยือนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเชิญชวนให้ไปเยือนรวมทั้งยินดีจะเชื่อมเครือข่ายกับทุกประเทศ.