ข่าวเด่น

หน้าแล้งมาเยือนหนุนปลูกเก๊กฮวยแทนข้าวโพดไม่ต้องเผา รายได้ดีเยี่ยม

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวจาก จ.เชียงราย ว่าในปัจจุบันสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจ พลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.)  ร่วมกับโครงการหลวงดอยสะโง๊ะ ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านตามพื้นที่ชายแดนด้าน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย หลายหมู่บ้านให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ “ดอกเก๊กฮวย” แทนการปลูกข้าวโพด โดยในปัจจุบันมีชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านเข้าร่วม เช่น บ้านหัวแม่คำ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง บ้านม้งเก้าหลัง ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง

โดย ผศ.ดร.สุทธิพร ธเนศสกุลวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจ พลังงานและสิ่งแวดล้อม มร.ชร. เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการเชิงวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม หลังจากพบว่าตามพื้นที่ภูเขาสูงโดยเฉพาะชายแดนมีทั้งปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นบริเวณกว้างเพื่อสร้างรายได้ คือข้าวโพดเป็นบริเวณกว้าง ทำให้เกิดการรุกป่าและเผาในฤดูแล้งจนสร้างปัญหามลภาวะเป็นพิษ หมอกควันตามมา ในขณะเดียวกันด้วยรายได้ที่น้อยทำให้เสี่ยงต่อการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษาจนพบว่าพืชเก๊กฮวยเหมาะสมในการนำมาทดแทนข้าวโพดได้ โดยทำให้มีรายได้ดีกว่า ใช้พื้นที่น้อยกว่าและไม่ต้องเผาในฤดูแล้งแต่ใช้การฝังกลบแทนทำให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผศ.ดร.สุทธิพร กล่าวด้วยว่า ดังนั้นจึงได้นำพันธุ์ดอกเก๊กฮวยที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์แล้วจากโครงการหลวงดอยสะโง๊ะมาขยายพันธุ์ด้วยการเพาะพันธุ์แล้วนำขึ้นไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกโดยถ่ายทอดทั้งแนวคิด เทคโนโลยีและใช้วิทยาศาสตร์ในการเข้าไปส่งเสริมด้วยการ่วมกับผู้นำชุมชนก่อน กระทั่งปัจจุบันมีชาวบ้านเข้าร่วมแล้วจำนวน 60 กว่าราย ผลผลิตที่ได้นำมาจำหน่ายได้ในราคาดีและทาง มร.ชร.รับส่วนหนึ่งมาใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) เก็บไว้ได้นาน 1 ปีด้วย

“พืชข้าวโพดและเก๊กฮวยต่างเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุสั้นประมาณ 4-6 เดือนเหมือนกัน แต่ข้าวโพดมีลำต้นใหญ่ต้องฟันหรือเผาเมื่อพ้นฤดูกาลไปแล้วเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกใหม่ และยังต้องใส่ปุ๋ยหรือสารเคมีตามที่ผู้รับซื้อกำหนดด้วย ประกอบกับรายได้ต่อไร่ของข้าวโพดเฉลี่ยไร่ละประมาณ 5,000-7,000 บาทต่อไร่หรือกำไรสุทธิหักแล้วเหลือเพียง 1,500 บาทต่อไร่ แต่กรณีของเก๊กฮวยไม่ต้องใช้สารเคมีเพราะเป็นพืชที่ต้านทานแมลงศัตรูพืชและโครงการเราก็เน้นพืชอินทรีย์อยู่แล้ว ส่วนรายได้ก็พบว่าสามารถทำให้ได้สูงถึงไร่ละกว่า 10,000 บาท ตลาดก็มีแนวโน้มดีโดยปัจจุบันจำหน่ายได้บนดอยแม่สลองและมีผู้ขึ้นไปรับซื้ออย่างต่อเนื่อง  เมื่อพ้นฤดูกาลไปแล้วก็ไม่ต้องเผาทิ้งเพราะมีลำต้นเล็กเตี้ยกว่าเพียงแต่ไถกลบก็สามารถเป็นแปลงปลูกได้เลย รวมทั้งยังเป็นพืชคลุมดินชั้นดี ที่สำคัญคือช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนที่ยังคงมีปัญหานี้อยู่อีกด้วย ทั้งนี้ในปัจจุบันทางสถาบันฯ ยังกำลังขยายการส่งเสริมการปลูกไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่สนใจ เช่น ดอยอินทรีย์ อ.เมืองเชียงราย ต่อไป” ผศ.ดร.สุทธิพร กล่าว.