มฟล.รับมอบหุ่นยนต์ TEMI ยันทำนวัตกรรมใหม่สู้ศึก 20 มหา’ลัย
เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมคำมอกหลวง อาคารเอ็ม-สแคว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) อ.เมือง จ.เชียงราย ดร.พนม วิญญายอง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ผศ.ดร.ธีรวิศิฏฐ์ เลาหะเพ็ญแสง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมด้วย คณาจารย์และนักศึกษาร่วมกันรับมอบหุ่นยนต์อัจฉริยะ True5G Temi Connect & Carebot และเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตความเร็ว 5 จี จากบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมี นางสาวจินดาภรณ์ มะโนวรรณา ผู้จัดการทั่วไป เขตภาคเหนือตอนบน และนายธวัชชัย ฤกษ์สำราญ รองผู้อำนวยการธุรกิจโมบายและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 5 จี ของบริษัทฯ เป็นผู้ส่งมอบ นอกจากนี้ยังมีวิทยากรจากบริษัทฯ จัดการจัดอบรมให้ความรู้ด้าน Robotic แก่นักศึกษาสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ด้วย
ผศ.ดร.ธีรวิศิฏฐ์ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางบริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาด้านการพัฒนาหุ่นยนต์บริการแก่นิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภายใต้โครงการ TRUE 5G Robotic Boot Camp โดยมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมจำนวน 20 สถาบันและ มฟล.ก็ถือเป็น 1 ใน 20 แห่ง ที่ได้รับเลือกซึ่งโครงการมีกิจกรรมมอบหุ่นยนต์และเทคโนโลยี 5 จี เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้คิดค้นพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่สามารถนำไปใช้ได้จริงผ่านทางหุ่นยนต์ตัวนี้ ซึ่งกรณีของ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ให้นักศึกษาจากสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศในหลักสูตรต่างๆ เข้าร่วมจำนวน 70 คน ซึ่งนักศึกษาจะผ่านการอบรมและนำไปคิดค้นก่อนจะดำเนินการแล้วจึงนำเสนอผลงานต่อไป
ทางด้าน ดร.พนม กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จะได้มีโอกาสแข่งขันด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยดังกล่าว เพราะยุคปัจจุบันมีความก้าวหน้าด้านการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์อย่างมากแตกต่างจากอดีต ซึ่งกรณีนี้สามารถนำไปคิดค้นการพัฒนากิจการทั้งทางด้านการเกษตร ผลไม้ อาหาร ฯลฯ ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาธุรกิจนั้นๆ ให้ก้าวหน้าและถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในอนาคตได้อีกด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงการดังกล่าวทางบริษัททรูฯ จะมอบหุ่นยนต์และเทคโนโลยี 5 จี เพื่อให้นิสิตนักศึกษาทั้ง 20 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง คิดค้นการพัฒนาต่อยอดด้วยการนำไปสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้กับธุรกิจได้จริง โดยได้รับเงินสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมจำนวน 750,000 บาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ ก.ย.2563 – 28 ก.พ.2564.