มฟล.จับมือเทศบาลนครเชียงราย ผุดเมืองอาหารปลอดภัย
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมเชียงแสน อาคารวันชัย ศิริชนะ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) อ.เมือง จ.เชียงราย ทาง มฟล. ได้ร่วมกับเทศบาลนครเชียงราย จัดให้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการเมืองอาหารปลอดภัย” โดยมี รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ร่วมกันลงนามโดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมครบครัน โดยเนื้อหาของความร่วมมือ คือการร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้เรื่องเมืองอาหารปลอดภัยไปสู่ประชาชนทุกฝ่าย ตั้งแต่นักเรียนนักศึกษา ประชาชน ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตอาหาร ผู้บริโภค ฯลฯ และพัฒนาศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและเกษตรปลอดภัยนครเชียงราย โดยมีผลผูกพันความร่วมมือเป็นระยะเวลา 3 ปีตั้งแต่ปี 2563-2566
สำหรับความร่วมมือจะมีการจัดให้มีการฝึกอบรมสำหรับเกษตรกรด้วยหลักสูตรต่างๆ เช่น การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย การผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษ ฯลฯ จัดอบรมด้านธุรกิจในหลักสูตรต่างๆ เช่น การวางแผนธุรกิจ การวางแผนตลาด การวางแผนการเงิน ฯลฯ จัดระบบการบริหารศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและเกษตรปลอดภัย จัดกิจกรรมพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการจัดวางสินค้าเกษตร จัดอบรมทางด้านอาหารปลอดภัยให้แก่นักเรียน การนำผลงานวิจัยนวัตกรรมไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ฯลฯ โดยดำเนินการตั้งแต่เดือน มิ.ย.2563 นี้เป็นต้นไปจนถึงเดือน พ.ค.2566 โดยปีแรกจะมีการตั้งคณะทำงานและสรุปรายละเอียดการดำเนินการทั้งหมดให้แล้วเสร็จต่อไป
โดย รศ.ดร.ชยพร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเรื่องอาหารปลอดภัยใน จ.เชียงราย มานานและอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้เป็นเมืองที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือหน่วยงานภายในจังหวัดที่จะเข้าไปร่วมมือกันทำงานเพราะผลดีที่ได้นั้นถือว่ามหาศาล โดยนอกจากจะทำให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ยังทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่จะมาเยือนได้บริโภคอาหารที่ถูกสุขอนามัยอันจะเป็นแรงดึงดูดให้ไปเยือนอย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ความร่วมมือจะมุ่งไปทั้งระบบทั้งต่อเยาวชน ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้บริโภค ฯลฯ ซึ่งตนยืนยันว่าทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และเทศบาลนครเชียงราย จะเดินหน้าร่วมกันต่อไปอย่างมั่นคง
ทางด้านนายวันชัย กล่าวว่า กิจกรรมส่งเสริมเรื่องอาหารปลอดภัยสามารถใช้เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้ เพราะประชาชนชาวเชียงรายส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งสามารถต่อยอดไปถึงการแปรรูปผลผลิตทางเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับการส่งเสริมให้เชียงรายเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยมีผลผลิตทางการเกษตรปลอดภัยและสินค้าแปรรูปทางการเกษตรจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนได้อย่างมั่นใจอีกด้วย.