วัดเจดีย์หลวงซ่อมวิหารเอง ขาดงบฯ พึ่งผู้มีจิตศรัทธาบริจาค
เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2563 ที่วัดเจดีย์หลวง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่างรับเหมาก่อสร้างได้เข้าไปซ่อมแซมค้ำยันบริเวณเสาภายในวิหารของวัดเจดีย์หลวง เทศบาล ต.เวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน หลังเกิดกรณีเสาภายในวิหารที่เป็นไม้ได้แตกร้าวและผุกร่อนรวมทั้งบางต้นมีมอดเจาะ ได้รับความเสียหายเกือบทุกต้นประมาณ 52 ต้น และเสียหายหนักประมาณ 3-4 ต้นจนทำให้โครงหลังคาด้านหนึ่งยุบตัวลงมาเล็กน้อย
โดยการค้ำยันดังกล่าวทางช่างได้นำแผ่นโลหะหนาที่มีความยาวเกือบเท่าต้นเสานำมาประกบตั้งแต่ส่วนฐานไปจนถึงส่วนบน เชื่อมต่อด้วยแผ่นโลหะเป็นช่วงๆ ประมาณ 4-5 ช่วงเพื่อให้เสามีความมั่นคงแข็งแรงไม่ยุบตัวลงมาอีก โดยได้ดำเนินการประกบเสาไม้ด้วยโลหะดังกล่าวแล้วจำนวน 3 เสาและยังมีการสำรวจคาดว่าจะจัดทำอีกอย่างน้อย 4 เสา
จากนั้นจะเปิดให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เคารพสักการะพระประธานในวัดซึ่งเป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่งที่อยู่คู่กับเจดียห์หลวงที่อยู่เบื้องหลังและในวิหารของวัดที่สร้างมาได้นานกว่า 676 ปี โดยพญาแสนภูพระราชนัดดาของพ่อขุนเม็งรายมหาราชปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ได้ตามปกติ แต่จะมีการเตือนไม่ให้เข้าไปภายในวิหารหากเกิดฝนตกและมีพายุลมพัดแรงเนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอันตรายได้
โดยพระครูวิจารณ์ธรรมสุนทร เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง กล่าวว่า หลังการก่อสร้างวิหารวัดเจดีย์หลวงระหว่างปี 2557-2559 แล้วเสร็จ ก็พบว่าความเสียหายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ส่งมอบงาน ทำให้วันที่ 2 พ.ค.2562 ทางวัดได้รายงานสภาพปัญหาต่อกรมศิลปากรผ่านทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ แต่ก็ไม่มีการซ่อมแซมใดๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมาก่อนจะทำพิธีในวิหาร ปรากฏว่าได้เกิดเสียงลั่นด้านบนดังสนั่นและส่วนหลังคาก็ยุบลง ประกอบกับเสามีความเสียหายโดยเฉพาะมีเสียหายหนักจำนวน 4 ต้น และต้นอื่นๆ มีสภาพแตกและมอดเจาะ ทำให้ทางวัดนำป้ายและเชือกไปขึงเตือนเป็นเขตอันตราย แต่พบว่าประชาชนที่เดินทางไปเยือนต่างประสงค์จะเข้าไปกราบไหว้พระประธานในวิหาร เพื่อเป็นสิริมงคล ทางวัดจึงได้นำป้ายและเชือกออกแล้วโดยใช้การค้ำยันด้วยโลหะดังกล่าวแทนเพื่อความปลอดภัย ขณะเดียวกันทางผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เข้าไปตรวจสอบเพื่อจะช่วยแก้ไขแล้ว
พระครูวิจารณ์ธรรมสุนทร กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าการทำโครงสร้างโลหะเพื่อค้ำยันเสาไม้ของวิหารดังกล่าวดำเนินการโดยทางวัดและชาวบ้าน โดยมีช่างรับเหมาก่อสร้าง ที่มีจิตศรัทธาได้ช่วยนำคนงานและวัสดุอุปกรณ์เข้าไปดำเนินการให้ ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นคาดว่าจะมากถึงหลายหมื่นบาทแล้วและก็คาดว่าเขาคงจะไม่คิดค่าแรงโดยมีเพียงค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เท่านั้น ซึ่งงบประมาณที่ต้องนำมาจ่ายก็คงมาจากการจัดหาของคณะกรรมการวัดที่จะต้องระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาต่อไป เนื่องจากทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ แจ้งว่าได้นำเสนอเรื่องนี้ให้ทางกรมศิลปากรได้เร่งรัดอนุมัติงบประมาณมาดำเนินการให้แล้วดังนั้นจึงอยู่ระหว่างรอผลการนำเสนออยู่ แต่ทางวัดเห็นว่าระหว่างที่รอการช่วยเหลือนี้ก็ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยไว้ก่อน
พระครูวิจารณ์ธรรมสุนทร กล่าวด้วยว่า ความปลอดภัยนั้นมีทั้งต่อคนที่จะเข้าไปภายในและต่อพระพุทธรูปที่อยู่ภายในทั้งพระพุทธรูปเก่าแก่อื่นๆ ที่อยู่ภายใน และพระเชียงแสนสิงห์หนึ่งที่เป็นพระประธาน เพราะไม่สามารถย้ายออกมาได้เนื่องจากสร้างจากการก่ออิฐถือปูนที่ติดแน่น หากเกิดการยุบตัวลงมาของวิหารก็จะทำให้เกิดความเสียหายอันประเมินค่าไม่ได้เพราะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างมาคู่กับวัดและเจดีย์หลวงตั้งแต่อดีต
“คงต้องขอให้ทางช่างได้ซ่อมแซมค้ำยันเสาไปเรื่อยๆ ปัจจุบันดำเนินการมาแล้ว 4-5 วันคาดว่าจะค้ำยันต่อไปอีก 4-5 ต้นเพื่อให้เกิดความแข็งแรงไม่ก่อให้เกิดอันตรายไปจนกว่าทางกรมศิลปากรได้เข้ามาช่วยเหลือต่อไป” พระครูวิจารณ์ธรรมสุนทร กล่าว
สำหรับวัดเจดีย์หลวงเคยเสียหายหนักจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2554 วัดความแรงตามมาตราวัดริกเตอร์ได้ 6.7 มีศูนย์กลางอยู่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2557 วัดความแรงได้ 6.3 มีศูนย์กลางอยู่ที่ จ.เชียงราย โดยเฉพาะในปี 2554 ทำให้ส่วนยอดของพระธาตุพังตกลงมา นอกจากนี้เมื่อเดือน ธ.ค.2562 ที่ผ่านมาเกิดพายุพัดกระหน่ำ อ.เชียงแสน ทำให้ต้นไม้ล้มระเนระนาด กระทั่งนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกมาเปิดเผยขอให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณของกรมศิลปากรดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา นายไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 กรมศิลปากร ได้ไปตรวจสอบพื้นที่และระบุว่าเป็นงบประมาณอุดหนุนที่มอบให้วัดดำเนินการโดยมีการตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุต่างๆ เรียบร้อย ส่วนไม้ใช้ไม้เต็งรังที่เป็นไม้เนื้อแข็งแต่เมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นก็จะได้ทำแบบแปลนใหม่เสนอให้อธิบดีกรมศิลปากรอนุมัติซ่อมแซมแล้ว.