กฟก.เชียงราย ทำบุญครบรอบ 21 ปี พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกร
เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงาน นายนิยม สุวรรณประภา หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดเชียงราย พร้อมพนักงานและลูกจ้าง ได้จัดประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในโอกาส ครบรอบการก่อตั้ง “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” ภายใต้ชื่อกิจกรรม “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 21 ปี แห่งความศรัทธาและความเชื่อมั่น” ณ วัดเจ็ดยอด (พระอารามหลวง) อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
โดยหลังจากเสร็จพิธีทางศาสนา คณะเจ้าหน้าที่ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดเชียงรายได้เดินทางไปยัง วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย เพื่อนำสิ่งของและอาหาร เติมใน “ตู้แบ่งปัน เชิญเติม” ซึ่งตั้งไว้ที่บริเวณประตูทางเข้า วิทยาลัยฯ เพื่อให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 เปิดหยิบและนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
นายนิยม กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2542 และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไว้อย่างชัดเจน โดยมีวัตถุประสงค์และหน้าที่หลัก ได้แก่ ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกร พัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรเกษตรกร พัฒนาศักยภาพในการพึ่งพาตนเองและเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างเกษตรกรกร และแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในระบบอันเนื่องมาจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรเกษตรกร โดยมีคณะกรรรมการ ตามกฎหมาย จำนวน 3 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เป็นประธาน 2.คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีนางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท เป็นประธาน และ 3.คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร มีนายจารึก บุญพิมพ์ เป็นประธาน
“ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรลูกหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรที่ได้รับการชำระหนี้แทน และอยู่ระหว่างการชำระหนี้คืนกับกองทุนฟื้นฟูฯ และองค์กรเกษตรกรที่ได้รับเงินกู้ยืมในโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร และอยู่ระหว่างการชำระหนี้คืน กับกองทุนฟื้นฟูฯ โดยให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ดำเนินการแก้ไขระเบียบฯ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สามารถออกมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและค่าบริการแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ที่เป็นลูกหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ โดยเร่งด่วน” นายนิยม กล่าว.