โควิดฯเชียงรายเป็นศูนย์- ลุ้นผลป่วย-จนท.รพ. 3 ราย-ขยายเวลางดขายเหล้าถึง30เมษา
เมื่อวันที่ 14 เ.ม.ย.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมกาสะลองคำ สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงราย นายภาสกร บุญญลักษม์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย และหัวหน้าคณะทำงานสกัดกั้นโรคไว้รัสโควิด-19 จ.เชียงราย นายแพทย์ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย และนายแพทย์ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 พื้นที่ จ.เชียงราย ว่า นับตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.-14 เม.ย.2563 ได้มีผู้เข้าเกณฑ์ระวังโรคดังกล่าว จำนวน 215 ราย และทั้งหมดตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 9 ราย ล่าสุดผู้ป่วยรายสุดท้ายได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วในช่วงบ่ายวันที่ 14 เม.ย.นี้ โดยแพทย์ยืนยันว่าหายป่วยแล้วและไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นแต่ก็ให้ปฏิบัติตนด้วยการอยู่แยกจากผู้อื่นและสวมหน้ากากอนามัยอีกอย่างน้อย 1 เดือน ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันของ จ.เชียงราย เป็น 0 รายแล้ว
ทั้งนี้ พบว่ามีผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอผลตรวจอีกจำนวน 3 ราย โดยเป็นเจ้าหน้าที่เอ๊กซเรย์และเจ้าหน้าที่ตรวจคัดแยกผู้ป่วยของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์จำนวน 2 ราย และมีผู้ป่วยจากโรงพยาบาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย จำนวน 1 รายโดย 2 รายแรกมีอาการเป็นไข้ส่วนรายสุดท้ายมีอาการปอดอักเสบแล้วรักษาด้วยวิธีปกติแล้วไม่หายจึงเข้าเกณฑ์ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งทางคณะกรรมการฯ จะได้แจ้งให้ทราบต่อไป
ทั้งนี้แม้จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น 0 ราย แต่ทางคณะกรรมการฯ ยังได้ประกาศมาตรการขยายระยะเวลาห้ามจำหน่ายสุราจากเดิมกำหนดตั้งแต่วันที่ 12-16 เม.ย.2563 ไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย.2563
โดยนายประจญ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2563 เชียงราย ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็ยังคงมาตรการที่เข้มข้นต่อไปโดยมีการประกาศจังหวัดไปแล้วจำนวน 10 ฉบับ และคำสั่งจังหวัดอีกจำนวน 12 ฉบับ ทำให้ยังคงมีผลอยู่โดยเฉพาะการปิดถนนสายรอง 7 สาย ปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ ส่วนการงดการจำหน่ายสุราเพราะเห็นว่าอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงในการรวมกลุ่มกันและควบคุมได้ยาก ส่วนคำแนะนำที่จะมีต่อประชาชนยังคงเหมือนเดิมคือการดูแลเรื่องความสะอาดและผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักดูอาการ 14 วันอย่างเข้มงวด
ขณะที่ นายภาสกร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทาง จ.เชียงราย ได้ใช้มาตรการให้อยู่บ้านเพื่อดูอาการ ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่มีความเสี่ยง เช่น เกาหลีใต้ ฯลฯ จำนวน 2,000 กว่าราย ส่วนใหญ่หมดระยะเวลา 14 วันแล้วคงเหลือเพียง 64 ราย และผู้มาจากต่างประเทศแล้วต้องกักตัวในสถานที่ที่กำหนดจำนวน 27 ราย ส่วนผู้ที่มาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีเกือบ 8,000 ราย และเหลือที่กักตัวไม่ครบ 14 วันอยู่เพียงประมาณ 1,311 กว่าราย และทั้งหมดจะหมดระยะเวลากักดูอาการ 14 วันตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.นี้ ดังนั้นหากพื้นที่ภายในจังหวัดเชียงรายปลอดโรคแล้วก็ยังคงเหลือการเดินทางเข้าไปเพิ่มเติม ซึ่งกรณีของถนนสายต่างๆ นั้นถือว่าควบคุมได้ มีผู้เข้ามาน้อยโดยมีเพียงคนจีนที่เดินทางขาออกเพื่อกลับประเทศจีนสัปดาห์ละ 1 ครั้งในทุกวันเสาร์ ส่วนสายการบินภายในประเทศมีเพียงวันละประมาณ 40 คน ส่วนถนนเข้าสู่จังหวัด 4 สายมีผู้ใช้ถนนวันละประมาณ 3,000 คนโดยมาทางถนนพหลโยธินสายเชียงราย-พะเยา วันละประมาณ 1,000 ราย ถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ วันละประมาณ 500 ราย ส่วนไปทาง อ.เชียงคำ จ.พะเยา และ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีรวมกันเพียงประมาณ 500 ราย จึงสามารถดูแลได้ทั่วถึง
ทางด้านนายแพทย์ทศเทพ กล่าวว่า หลังจากไม่พบผู้ที่เข้าเกณฑ์ความเสี่ยงมานานกว่า 2 สัปดาห์ ทาง จ.เชียงราย จึงจะเพิ่มมาตรการตรวจสอบกลุ่มเสี่ยงในอีก 7 วันข้างหน้าเพื่อขยายผลไปยังกลุ่มญาติของผู้ป่วยทั้ง 9 รายเพิ่มเติมอีกประมาณ 1,000 คน พื้นที่ อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.เมืองเชียงราย อ.เทิง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 อย่างแน่นอนต่อไป ทั้งนี้กรณีศึกษาผู้ป่วยทั้ง 9 รายของ จ.เชียงราย ที่ผ่านมาคือ 3 รายมีอาการปอดอักเสบจนต้องให้ยาต้านไวรัสแต่ไม่ถึงขั้นต้องใส่ท่อหายใจ ส่วนอีก 6 รายมีอาการน้อยจนไม่ต้องให้ยาต้านไวรัสใดๆ แต่ทั้งหมดต้องผ่านเกณฑ์รักษาจนหายและดูอาการตามมาตรฐานทุกประการดังนั้นจึงขอให้สังคมเข้าใจว่าคนเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายแน่นอน
ด้านนายแพทย์ไชยเวช กล่าวว่า แม้ว่าจังหวัดเชียงรายจะผู้ติดเชื้อตัวเลขจะเป็นศูนย์แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะหากกลับสู่ความประมาทตัวเลขอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับหมื่นรายแล้วก็จะไม่สมารถควบคุมได้ โดยเฉพาะเดือน พ.ค.ซึ่งจะมีผู้เดินทางกลับกันมาก หากมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ลง ดังนั้นช่วงระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ที่เหลือนี้เจ้าหน้าที่จะได้เร่งเตรียมบุคลาการ ซักซ้อมแผน จัดเตรียมอุปกรณ์ เช่น หน้ากากอนามัย ฯลฯ จัดสถานที่เพิ่มเติมจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ไปยังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) หรือโรงแรมบางแห่ง ฯลฯ .