“2,000 ปีสืบมา หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง”
พุทธศาสนิกชน แห่เดินขึ้นดอยตุงตามรอยครูบาศรีวิชัย ยิ่งใหญ่
เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงรายว่า นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย นายอมร กิตติกวางทอง วัฒนธรรม จ.เชียงราย นายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอแม่สาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีพิธีสักการะพระธาตุดอยตุง ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาดอยนางนอนชายแดนไทย-เมียนมา ภายใต้งาน “2,000 ปีสืบมา หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง” ซึ่งมีการดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยในวันนี้ทาง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้นำพุทธศาสนาชิกที่ร่วมกันเดินจาริกจากพื้นราบบริเวณวัดศาลาเชิงดอย ต.ห้วยไคร้ สู่วัดพระธาตุดอยตุงระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ทำการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ในช่วงเช้าผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย นำผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์และสามเณรจำนวน 99 รูปบริเวณวัดพระธาตุดอยตุง จากนั้นพระสงฆ์และสามเณรนำคณะพุทธศาสนิกชนทั้งหมดเดินเป็นขบวนจากวัดพระธาตุดอยตุงไปยังพระธาตุดอยตุงเป็นขบวนยาว โดยมีทั้งขบวนแห่น้ำสรงพระราชทาน ผ้าไตรพระราชทาน น้ำทิพย์ เครื่องสักการะขบวนตุงจาก 18 อำเภอ ขบวนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ส่วนราชการ ท้องถิ่น ขบวนแห่รัตนสัตตนัง ฯลฯ ซึ่งพบว่าปีนี้มีพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวเดินทางไปร่วมในพิธีอย่างคับคั่งหลายพันคน
เมื่อถึงบริเวณพระธาตุดอยตุง พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 พร้อมด้วย นายณรงค์ศักดิ์ ได้นำผู้เข้าร่วมพิธีทั้งหมดประกอบพิธีสักการะ และสรงน้ำพระธาตุดอยตุง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แม่ทัพภาคที่ 3 เปิดกรวยดอกไม้บนกระทงธูปเทียนแพรหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดเปิดกรวยดอกไม้บนกระทงธูปเทียนแพร หน้าพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากนั้นมีการอาราธนาศรีล พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ เจ้าคณะ อ.แม่สาย กล่าวยกขันห้าตามประเพณีล้านนา และนำกล่าวคำไว้องค์พระธาตุดอยตุง และมีการถวายเครื่องสักการะองค์พระธาตุ 9 อย่างและพุทธศาสนิกชนร่วมกันสักการะองค์พระธาตุต่อไป
สำหรับพระธาตุดอยตุงเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์โดยมีความเป็นมาว่าพระมหากัสสปะซึ่งเป็นพระอรหันต์ครั้นพุทธกาลได้นำพระบรมสารีริกธาตุมามอบให้กับพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์องค์ที่ 3 ของอาณาจักรโยนกนาคพันธ์ ซึ่งพระเจ้าอชุตราชได้เสี่ยงทายด้วยการนำตุงยาว 7,000 วา ไปปักเอาไว้เพื่อหาจุดสร้างพระธาตุก็ได้ตรงยอดดอยตุงในปัจจุบันนั่นเอง ต่อมาอีก 100 ปีมีพระมหาวชิรโพธิเถระซึ่งเป็นอรหันต์อีกรูปนำพระบรมสารีริกธาตุมามอบให้กับพระเจ้ามังรายณะกษัตริ์ที่ครองราชสืบต่อกันมาอีก ทำให้มีการสร้างเป็นประธาตุคู่แฝดกันมา จนปี 2470 ครูบาศรีวิชัยนักบุญล้านนาได้ไปบูรณะทำให้พุทธศาสนิกชนสืบทอดการเดินขึ้นดอยตุงเพื่อสรงน้ำพระธาตุจนถึงปัจจุบัน.