ข่าวเด่น

เชียงรายจัดประกวดโคเนื้อ “โคบาลล้านนาครั้งที่ 2” วันที่ 10-12 มกราคม 2563

เชียงรายจัดประกวดโคเนื้อ “โคบาลล้านนาครั้งที่ 2” สร้างการรับรู้เพิ่มช่องทางจำหน่ายให้กับเครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อ

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายพืชผล น้อยนาฝาย ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการประกวดโคเนื้อ “โคบานล้านนา ครั้งที่ 2” เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2563 ที่บริเวณลานสนาม มุมถนนสี่แยกแม่กรณ์ ถนนพหลโยธิน ตำบลสันทราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยมี เครือข่ายโคเนื้อล้านนา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดเชียงราย สำนักงานปศุสัตว์ ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์โคเนื้อ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดเชียงรายทั้ง 18 อำเภอและจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมอย่างคับคั่ง

ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นการพัฒนาพันธุ์โคเนื้อ สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์การผลิต ตลอดจนเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับเครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดเชียงราย กำหนดจัดขึ้นในระหว่างที่ 10-12 มกราคม 2563 กิจกรรมภายในงาน ได้จัดให้มีการประกวดโคเนื้อ การประกวดมิสคาวเกิร์ล มีการแสดงนิทรรศการ ให้ความรู้ บูทแสดงผลิตภัณฑ์และจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับการเลี้ยงโคเนื้อ การนำโคเนื้อพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ มาโชว์ความสวยงาม มีคาวบอยไนท์ทุกคืน จะมีการแสดงการล้มวัว ขุดเขา ตีเบอร์ ขว้างบ่วงบาศก์ การตัดเขาแบบรัดยาง แต่งกีบโค การตอนโค

ส่วนในวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2563 ในช่วงเช้าจะมีกิจกรรมการประกวดโคเนื้อพันธุ์ลูกผสมยุโรป ทั้งเพศเมียและเพศผู้ หลายช่วงอายุ ในช่วงบ่ายการประกวดโคเนื้อพันธุ์ลูกผสมบีฟมาสเตอร์ ทั้งเพศเมียและเพศผู้ หลายช่วงอายุ มีการสาธิตทำอาหารจากเนื้อโคให้กับผู้มาร่วมงานได้ชิม การประกวดหนูน้อยคาวบอย-คาวเกิร์ล ชมดนตรีจากนักร้องเพื่อชีวิต อ้น ธวัชชัย ชูเหมือน

สำหรับในวันสุดท้าย ช่วงเช้าจะมีการประกวดประกอบอาหารจากผลิตภัณฑ์เนื้อโคคุณภาพ รวมไปถึงการแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์โคเนื้อที่กลุ่มเกษตรกรนำออกมาแสดงและจำหน่ายให้กับเกษตรกร

โดยนายพืชผล น้อยนาฝาย ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การประกวดโคเนื้อโคบาลล้านนา ถือเป็นการประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่งที่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและขยายตลาดโคเนื้อคุณภาพเป็นการแสดงถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์โคเนื้อที่ได้พัฒนามาระดับหนึ่ง ซึ่งจังหวัดเชียงรายเริ่มมีผลผลิตโคเนื้อพันธุ์ดีที่โครงการดำเนินการปรับปรุงพันธุ์มาในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากว่าจะได้ผลผลิตโคเนื้อออกมาต้องใช้เวลานานเป็นแรมปี ทำให้สามารถวางแผนการผลิตและการตลาดได้ล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ผลผลิตโคเนื้อคุณภาพก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอในการบริโภคภายในประเทศยังคงมีการนำเข้าชีวิตและโคเนื้ออย่างต่อเนื่องและในอนาคตประเทศไทยต้องเจอภาวะการแข่งขันภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างประเทศไทยและนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป โดยมีการลดภาษีเป็น 0% หากไม่มีการเร่งพัฒนาทั้งด้านการผลิตการแปรรูปการตลาด ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกรจะทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับการค้าในต่างประเทศได้

นายพืชพล กล่าวด้วยว่า สำหรับจังหวัดเชียงราย เน้นเป็นแหล่งผลิตโคเนื้อสายพันธุ์บีฟมาสเตอร์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่ายปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อมบ้านเรา จังหวัดเชียงราย จึงได้ส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อได้พัฒนาการเลี้ยงของตนเองก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพัฒนาเป็นอาชีพหลักต่อไป ส่งผลให้กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อมีความเข้มแข็ง สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดโคเนื้อกับเครือข่ายโคเนื้อไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมั่นคง

“ทั้งนี้ จังหวัดเชียงรายได้เริ่มให้มีการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา และเริ่มจากการประกวดโคเนื้อ “โคบาลล้านนาครั้งที่ 1” เมื่อปี 2562 และจะจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเชื่อมโยงการดำเนินงานให้บรรลุถึงวิสัยทัศน์จังหวัดเชียงรายในการเป็น “เมืองแห่งความสุข สะอาด ปลอดภัย และหน้ายล” นายพืชผล กล่าว.