ข่าวเด่น

เชียงรายสุดเจ๋ง! เพาะทิวลิปสยาม 4 สายพันธุ์ใหม่

เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย นายชวฤทธิ์ กิติรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย นำคณะแถลงข่าวการจัดงาน “ทุ่งทิวลิปสยามบาน หลากสีสันพรรณไม้หัว” โดยมีกำหนดจัดขึ้นภายในศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ในระหว่างวันที่ ‪25 ก.ค.-15 ส.ค.‬2562 โดยจะมีการจัดแปลงไม้ดอกไม้ประดับสายพันธุ์ปทุมมาและกระเจียวหรือทิวลิปสยามกว่า 500 สายพันธุ์ รวมทั้งมีการจัดแสดงดอกไม้ประเภทหัวเมืองร้อนหลากชนิด เช่น หงส์เหิน ดาหลา บัวดิน ว่านสี่ทิศ กล้วยไม้ ฯลฯ เพื่อเปิดให้มีการการศึกษาข้อมูล การตลาด สายพันธุ์และเพื่อให้ผู้ที่ชื่นชอบรวมถึงนักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพื่อการถ่ายภาพ ฟรีตลอดงาน ซึ่งภายในศูนย์ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,965 ไร่ และทางศูนย์จัดสถานที่ส่วนหนึ่งเพื่อการจัดแสดง โดยมีกำหนดจัดพิธีเปิด‪ในวันที่ 5 ส.ค.2562 ‬และ ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มีกำหนดจะเดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิด

โดยนายชวฤทธิ์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ถือเป็นแหล่งพัฒนาสายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับประเภทเหง้าและอื่นๆ โดยเฉพาะดอกปทุมมาและกระเจียวจนมีกว่า 500 สายพันธุ์ ซึ่งถือเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและที่ผ่านมาได้ให้บริการเกษตรกรด้านวิชาการและส่งเสริมการปลูกเพราะตลาดมีความต้องการปทุมมาและกระเจียวอย่างมากจนกลายเป็นพืชที่มีการส่งออกไปต่างประเทศมากเป็นอันดับ 2 รองจากกล้วยไม้ โดยมีมูลค่าปีละกว่า 30-40 ล้านบาท

ล่าสุดในปี 2562 ทางศูนย์ก็สามารถพัฒนาสายพันธุ์ใหม่และได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรได้จำนวน 4 สายพันธุ์ ซึ่งมีคุณลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น ดังนั้นในการจัดงานครั้งนี้ก็จะนำมาจัดแสดงเพื่อทดลองตลาด นอกจากนี้ยังมีการจัดเสวนาเรื่องเทคโนโลยีการผลิตปทุมมาและพืชหัวโดยไม่ใช้ดิน การสาธิตทำน้ำดอกปทุมมา การจัดจัดสวนถ่ายภาพกลางทุ่งดอกไม้ ฯลฯ จึงคาดว่าจะมีผู้เดินทางไปชมเป็นจำนวนมาก

ทางด้าน ดร.วิชญา ศรีสุข นักวิชการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย กล่าวว่าภายในงานยังจะมีการจัดฐานเรียนรู้การผลิตพืชไฮโดรโพนิกส์และแอโรโพนิกส์ ซึ่งจะไม่ใช้ดินแต่ใช้วัสดุอื่น เช่น กาบมะพร้าว ฯลฯ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากการดิน มีฐานการผลิตหัวพันธุ์ปทุมมาและขมิ้นชันปลอดโรคในระบบวัสดุปลูก ฐานการผลิตเห็นถั่งเช่าสีทอง และฐานเกษตรทฤษฎีใหม่และการผลิตสารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรปลูกและผู้สนใจเรียนรู้จะนำไปขยายพันธุ์พืชเศรษฐกิจเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ดอกเหล่านี้มีราคาจำหน่ายดอกละประมาณ 5 บาทและหากเป็นช่วงให้ดอกมากก็จะอยู่ที่ดอกละประมาณ 1-2 บาทแล้วแต่สายพันธุ์ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของศูนย์จึงถือเป็นโอกาสอันดีของเกษตรและผู้สนใจรวมทั้งนักท่องเที่ยวที่จะได้ไปชมความงดงามเป็นอย่างยิ่ง

ด้าน น.ส.ณิชกานต์ นเรวุฒิกุล นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย กล่าวว่า สายพันธุ์ปทุมมาที่ศูนย์พัฒนาใหม่ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ คือ

สายพันธุ์เชียงราย 1 เป็นไม้พุ่มเล็กเหมาะกับการใส่กระถาง ดอกสีชมพูกลีบประดับเป็นเกลียวอย่างมีระเบียบสวยงามและมีอัตราการแตกกอได้มาก

สายพันธุ์เชียงราย 2 เป็นไม้ที่เหมาะสำหรับตัดดอกที่มีดอกสีชมภูอ่อน กลีบประดับหนาสมส่วน ก้านช่อดอกแข็งแรง

สายพันธุ์เชียงราย 3 เป็นไม้พุ่มที่มีดอกสีขาวบริสุทธิ์และมีขนาดกระทัดรัด

และสายพันธุ์เชียงราย 4 เหมาะสำหรับตัดดอกมีกลีบประทับบนเป็นสีชมภูแต่ด้านล่างเป็นสีเขียวแยกชั้นกันและก้านช่อดอกแข็งแรง

“เกษตรกรสามารถเข้าไปศึกษาและเรียนรู้เรื่องการขยายสายพันธุ์ดังกล่าวได้โดยตรงภายในงานเนื่องจากปัจจุบันยังเพาะได้ในจำนวนจำกัดซึ่งหากตลาดมีความต้องการก็จะสามารถพัฒนาให้ขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมากต่อไป ส่วนผู้ที่สนใจสายพันธุ์อื่นๆ ทั้ง 500 สายพันธุ์หรือที่กำลังพัฒนาใหม่อีกเป็นจำนวนมาก สามารถเข้าไปชมภายในงานได้” น.ส.ณิชกานต์ กล่าว.