เปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะฯ เร่งสกัดโรคอหิวาต์แอฟริกา
เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ด่านกักสัตว์เชียงราย สาขาเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ติดแม่น้ำโขง ไทย-สปป.ลาว นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในพิธีรับมอบและเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ ตามโครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยพิธีเป็นการรับมอบศูนย์ฯ ซึ่งทางภาคเอกชน โดยบริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างมูลค่า 1.8 ล้านบาท เพื่อให้ทางราชการใช้สำหรับดำเนินการ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการนำเข้าและส่งออกกับต่างประเทศในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสกุร (เอเอสเอฟ) ในต่างประเทศอย่างหนัก ทั้งนี้ นายนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมฯ และนายวิรัตน์ ตันหยง จากบริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ทำการมอบศูนย์ฯ แก่นายสัตวแพทย์สรวิศ โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงาน องค์กรต่างๆ เข้าร่วมครบครัน
โดยศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ เชียงแสน เป็น 1 ใน 5 แห่งที่ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และบริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุน โดยอีก 4 แห่งได้ดำเนินการเปิดดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ที่จ.สระแก้ว หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร
โดยนายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า ในปัจจุบันภาคการปศุสัตว์ของประเทศจีนและของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาอย่างหนัก โดยล่าสุดพบใน สปป.ลาว ซึ่งใกล้ประเทศไทยเข้ามา แต่ในส่วนของประเทศไทยยังไม่พบโรคดังกล่าว เพราะเราใช้มาตรการเข้มตั้งแต่ตรวจสอบที่ชายแดน การคุมเข้มการนำอาหารหรือซากที่อาจแพร่เชื้อที่สนามบิน เพราะอาจจะมากับผู้โดยสาร และสามารถสกัดได้ทัน ปัจจุบันยังได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ จัดทำคู่มือ มีคำสั่งกรมปศุสัตว์ให้ทุกจังหวัดตั้งคณะทำงาน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและปศุสัตว์จังหวัดเป็นเลขานุการ รวมทั้งขอร่วมมือกับ สปป.ลาว เพื่อตัดตอนไม่ให้เข้าสู่ประเทศและหากเกิดกรณีระบาดถึงประเทศไทย ก็ได้มีแผนฉุกเฉินที่ได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการแล้ว
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเราก็สกัดได้เกือบครบ 1 ปีแล้ว หลังการพบการระบาดของโรคที่ประเทศจีน-มองโกเลีย ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2561 แต่จากสถานการณ์ในประเทศรอบด้านทำให้ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงโดยเฉพาะมีการนำเข้าและส่งออกรวมทั้งผู้คนเดินทางเข้าสู่ระหว่างประเทศกันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐและเอกชน โดยสมาคมฯ ที่มีความเข้มแข็งได้ร่วมกันสกัดกั้นโรคไม่ให้เข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งศูนย์ฯ จะทำความสะอาดและฆ่าเชื้อรถบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ทุกคัน ที่ขนส่งสินค้าเข้าและออก และทางภาครัฐมีแผนจะก่อสร้างศูนย์ฯ ดังกล่าวเพิ่มโดยเบื้องต้นคาดว่าจะสร้างอีก 10 จุด เพื่อสกัดกั้นโรคทั่วเขตแดนไทยให้ได้
“เชียงรายมีการบรรทุกสัตว์หรือซากสัตว์ โดยปริมาณส่งออกประมาณ 8,000-12,000 ตัวต่อเดือน และเป็นพื้นที่เสี่ยงเพราะมีทั้งทางบกและทางเรือ ซึ่งทางบกมีการตรวจสอบดังกล่าวแล้ว ส่วนทางเรือแม่น้ำโขงนั้นได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เข้าไปตรวจสอบเรือสินค้า คนเรือ ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อบนเรือ ตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ โดยป้องกันให้ถึงที่สุด เพราะโรคนี้ไม่มีวัคซีนรักษาหากเข้ามาได้จะเสียหายหนัก” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว
ทางด้าน นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอเชียงแสน กล่าวว่า เชียงราย มีอาณาเขตติดกับ สปป.ลาว โดยทางแม่น้ำโขง และสะพานเชื่อมถึงกัน ขณะที่ภายในจังหวัดเชียงราย มีผู้เลี้ยงสุกรประมาณ 7,000 ราย มีสุกรรวมกันประมาณ 144,000 ตัว ส่วนใหญ่เป็นระบบปิดที่ได้มาตรฐาน แต่ก็ยังมีรายย่อยที่อาจมีความเสี่ยงและหากเกิดโรคจะทำให้เสียหาย จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีการตั้งศูนย์ฯ ที่ชายแดนดังกล่าว
นายนพพร มหากันธา ปศุสัตว์ จ.เชียงราย กล่าวว่า องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศหรือโอไออีรายงานว่า ในทวีปเอเชียมีการระบาดของโรคนี้แล้ว 7 ประเทศ คือ มองโกเลีย จีนเวียดนาม กัมพูชา ฮ่องกง เกาหลีเหนือ และ สปป.ลาว สำหรับ จ.เชียงรายนับว่ามีความเสี่ยงเพราะมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์หรือยานพาหนะที่ใช้บรรทุกเข้าออกเป็นประจำ รวมทั้งยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางจากประเทศต่างๆ ดังกล่าวเข้าออกอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า โรคนี้ระบาดเร็วมากโดยครั้งแรกที่ประเทศมองโกเลีย เมื่อ 1 ปีก่อน ซึ่งใช้เวลาเพียง 4 เดือนก็ระบาดถึงจีนตอนใต้ ทั้งหมดทั้งๆ ที่มีระยะทางร่วม 6,000 กิโลเมตร และอีก 2 เดือนต่อมาไประบาดเวียดนามที่ห่างออกไปกว่า 2,400 กิโลเมตรครบทั้ง 63 จังหวัดของเวียดนาม และต่อมาเข้าสู่กัมพูชาล่าสุด ในเดือน มิ.ย.ก็พบที่แขวงสาละวัน สปป.ลาว ซึ่งใกล้ประเทศไทยมาก
“พวกเราจึงต้องสกัดให้ถึงที่สุดไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อธุรกิจนี้ซึ่งมีมูลค่าหลายแสนล้านบาทเพราะนอกจากตัวสุกรแล้วยังเกี่ยวเนื่องไปถึงธุรกิจพืชและอาหารสัตว์ที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นนอกจากศูนย์ฯ ที่มีการส่งออกจำนวน 5 แห่งนี้แล้วก็จะร่วมกับกรมปศุสัตว์ไปสร้างที่ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นจุดขนส่งสินค้าที่สำคัญอีกจุดด้วย และน่ายินดีที่ได้ทราบว่าทางกรมปศุสัตว์ก็จะไปสร้างเองอีกหลายจุดดังกล่าวด้วย” นายสุรชัย กล่าว.