ข่าวกิจกรรม

เชียงรายจัดวิ่งมาราธอนระดับโลก “วิ่งโกลบอล รันนิง ซัมมิท 2019”

ยกมาตรฐานIAAFหวังตามบุรีรัมย์-ภูเก็ตใน 3 ปี

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องดอยตอง โรงแรมเดอะริเวอรี บายกะตะธานี จ.เชียงราย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในการประชุมเตรียมจัดกิจกรรมประชุมวิ่งมาราธอนระดับโลก “วิ่งโกลบอล รันนิง ซัมมิท 2019” (Global Running Summit) และต่อเนื่องไปถึงการการวิ่งฮาล์ฟมาราธอนนานาชาติสนามใหม่ของประเทศไทยรายการ “ยูเมะพลัส เชียงราย 2019 21.1” จากนั้นมีการแถลงข่าวการจัดกิจกรรมว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวจัดโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (ทีเส็บ) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บัตรกดเงินสดยูเมะพลัส บริษัทมูฟ เอเชีย จำกัด และ จ.เชียงราย ร่วมกันจัดขึ้นโดยได้เลือก จ.เชียงราย เป็นสถานที่จัดกิจกรรมโดยใช้เส้นทางใหม่ที่ได้รับการยอมรับจากสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (IAAF)

สำหรับการจัดการประชุมวิ่งมาราธอนระดับโลก “วิ่งโกลบอล รันนิง ซัมมิท 2019” มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 ก.ค.2562 ที่โรงแรมเดอะริเวอรี บายกะตะธานี เชียงราย ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญและกูรูวงการวิ่งระดับโลกเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยมีการเสวนาให้ความรู้ในทุกมิติ เช่น โลจิสติกส์เมืองที่จัดงานวิ่ง การจัดการจราจร การวัดเส้นทาง การบริหารจัดการ ฯลฯ รวมทั้งมีผู้รู้จาก IAAF จะมาถ่ายทอดกฎเกณฑ์สาเกล หลักการและแนวปฏิบัติสู่เวทีโลก เป็นต้น

และมีการจัดงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการวิ่งที่ลานของโรงแรมด้วย ส่วนการวิ่ง “ยูเมะพลัส เชียงราย 2019 21.1” ในวันที่ 7 ก.ค.ซึ่งจะมีมิสเตอร์เดวิด เคตซ์ มือหนึ่งการวัดเส้นทางระดับโลกของ IAAF มาวัดเส้นทางให้ด้วย ซึ่งการวิ่งจะมีนักวิ่งจากทั่วโลกทั้งไทยและต่างประเทศ โดยมีดาราไทยชื่อดังร่วมวิ่ง เช่น “ก้อย”รัชวิน วงศ์วิริยะ “หญิง” รฐา โพธิ์งาม
และ “โย” ยศวดี ร่วมวิ่งด้วย

โดยนายประจญ กล่าวว่า นับเป็นโอกาสที่ดีมากที่ จ.เชียงราย ได้จัดงานประชุมวิ่งมาราธอนระดับโลกซึ่งถือเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชียและยังได้มีโอกาสต้อนรับผู้เชี่ยวชาญและกฎเกี่ยวกับกีฬาดังกล่าวซึ่งจะมาช่วยยกระดับการจัดการแข่งขันยุเมะพลัส เชียงราย 2019 21.1 เพื่อให้เกิดสถิติใหม่และสนามแข่งขันระดับสากลที่ จ.เชียงราย โดยคาดว่ากิจกรรมครั้งนี้จะมีผู้เดินทางไปร่วมกว่า 6,000 คนโดยเป็นคนไทยประมาณ 5,000 คน และที่เหลือมาจากต่างประเทศอีกกว่า 1,000 คน ทำให้จังหวัดมีการระดับกำลังทุกฝ่ายเข้าร่วมจัดการแข่งขันได้ประสบความสำเร็จให้ได้ ซึ่งก็มีประสบการณ์จากการจัดมหกรรมกีฬาแห่งชาติมาแล้ว

ส่วนทางด้านเทคนิคและบุคลากรเราจะใช้จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายประมาณ 1,000 คน เมื่อเสร็จกิจกรรมแล้วก็จะเชิญชวนผู้เข้าร่วมไปท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น วัดร่องขุ่น บ้านดำ ไร่เชิญตะวัน ฯลฯ ต่อไปด้วย

ด้านนายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย กกท.กล่าวว่า กิจกรรมจะมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำจากทั่วโลก เช่น บอสตันมาราธอน ชิคาโกมาราธอน นิวยอร์กมาราธอน เบอร์ลินมาราธอน ลอนดอนมาราธอน และโตเกียวมาราธอน มาให้ความรู้ในทุกมิติ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการวิ่ง เช่น เอเยนซี่ แบรนด์สินค้า ฯลฯ ได้เข้าถึงการเรียนรู้ด้านเทคนิคและเคล็ดลับต่างๆ และตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีจะยกระดับ จ.เชียงราย ขึ้นสู่มาตรฐานการจัดการแข่งขันระดับสากลของ IAAF ให้ได้โดยมีตัวอย่าง จ.บุรีรัมย์ ที่มีการจัดครั้งแรกด้วยคนเข้าร่วมแค่ 10,000 คน จากนั้นปีถัดไปเพิ่มเป็น 18,000 คนและ 35,000 คนตามลำดับ และที่ จ.ภูเก็ต ก็ถือว่าได้มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกซึ่ง จ.เชียงราย ถือว่ามีความพร้อมในทุกด้านเช่นกัน

ทางด้านนายบุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ ผู้อำนวยการการแข่งขัน บริษัทมูฟ เอเชีย จำกัด กล่าวว่าเส้นทางวิ่งจะแบ่งเป็น 3 ระยะคือในวันที่ 5 ก.ค.จะเป็นระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นรอบมิตรภาพที่มีผู้ทรงคุณวุฒิหรือวีไอพีนำวิ่งจากโรงแรมเดอะริเวอรี บายกะตะธานี เชียงราย ไปยังสะดือเมือง วัดพระธาตุดอยทอง เพื่อกลับไปโรงแรมเช่นเดิม และในวันที่ 7 ก.ค.เป็นการวิ่ง “ยูเมะพลัส เชียงราย 2019 21.1” แบ่งออกเป็น 2 ระยะคือระยะทาง 21.1 กิโลเมตร จากวัดร่องขุ่นไปตามถนนพหลโยธินและวกเข้าสู่ถนนเลี่ยงเมืองสายใหม่ มุ่งสู่ถนนสายเด่นห้า-ดงมะดะ-เขตเทศบาลนครเชียงราย และไปถึงจุดสิ้นสุดที่สวนตุงและโคมนครเชียงราย ถนนธนาลัย ใจกลางเมืองเชียงราย และระยะทาง 10 กิโลเมตร จากสวนตุงและโคมนครเชียงราย-ชุมชนศรีเกิด-ถนนบรรพปรากร-หอนาฬิกาฯ-แยกประตูเชียงใหม่-สะพานแม่ฟ้าหลวง และวกกลับไปตามเส้นทางเดิมสู่จุดสิ้นสุด ณ สวนตุงและโคมนครเชียงราย

“เชียงรายมีความพร้อมตามหลักของ IAAF ทั้งในด้านการมีสนามบิน มีเส้นทางท่องเที่ยว ระบบสาธารณะที่ดี ระบบดูแลรักษาความปลอดภัยซึ่งดีมากโดยยกมาจากมาตรฐานการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีจำนวน 13 ที่ติดถ้ำหลวงจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลกมาใช้ได้เลย คงเหลือเพียงเทคนิคการแข่งขันซึ่งเราได้จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้นเพื่อยกเอาความพร้อมดังกล่าวมาสู่มาตรฐานสากลได้ต่อไป” นายบุญเพิ่ม กล่าว.