ฑูตสหรัฐยื่นไมตรีย้ำร่วมปราบยาภาคเหนือ
เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงรายว่า นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ เข้ารับตำแหน่งอุปทูตรักษาการแทน เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำ ประเทศไทย นางเจนนิเฟอร์ ฮาร์ไฮ กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (Drug Enforcement Administration: DEA) ประเทศสหรัฐและคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจจากประเทศไทย นำโดย พล.ต.ต.ชยพจน์ หาสุณหะ ผู้บังคับการข่าวกรองยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ร่วมกันเดินทางไปสำรวจพื้นที่เขตชายแดนไทย-เมียนมา และชายแดนไทย-สปป.ลาว ตั้งแต่บริเวณผาช้างมูบ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปจนถึงสามเหลี่ยมทองคำชายแดนไทย-สปป.ลาว และเมียนมา ที่ อ.เชียงแสน เพื่อศึกษาด้านสถานการณ์ยาเสพติด
ซึ่งหลังจากนั้นนายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ และคณะได้เดินทางไปแถลงผลการปฏิบัติการ ณ ห้องแทนคุณแผ่นดิน ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย
โดยนายปีเตอร์ ได้แจ้งถึงวัตถุประสงค์ในการเดินทางไปสำรวจชายแดนด้าน จ.เชียงราย ในครั้งนี้ว่าเนื่องจากตนเองให้ความสำคัญในการให้ความร่วมมือกับประเทศไทยในการร่วมกันป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และตนก็เคยทำงานใน สปป.ลาว รวมทั้งร่วมมือกับทำงานในย่านนี้มานานกว่า 30 ปี ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็มีความร่วมมือกับประเทศไทยในการบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้ว ต่อมาได้ทราบข่าวสารว่าในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมามีการทะลักเข้ามาของยาเสพติด และเจ้าหน้าที่ไทยก็ได้ตรวจยึดและจับกุมได้จำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็มีกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำ จ.เชียงใหม่ ที่คอยดูแลคนสหรัฐอเมริกาในพื้นที่ภาคเหนือด้วย ทางกงสุลใหญ่จึงแนะนำให้ตนเองไปดูพื้นที่ด้วยตัวเอง เพื่อที่จะให้เกิดความร่วมมือป้องกันไม่ใช่เฉพาะต่อคนไทยเท่านั้นแต่เพื่อไม่ให้ไปถึงคนอเมริกันและพันธมิตรต่างๆ ด้วย
นายปีเตอร์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น ยาเสพติด ค้ามนุษย์ สัตว์ป่า ป่าไม้ ลักลอบต่างๆ ฯลฯ แต่ที่บ่อยครั้งมากที่สุดคือ ยาเสพติด ซึ่งไทยและ DEA ได้ร่วมมือกันมาโดยตลอด การศึกษาดูงานครั้งนี้ทำให้ตนทราบถึงความท้าทายที่ตำรวจไทยก็พบปัญหานี้เกือบทุกวันเพื่อไม่ให้ลักลอบผ่านพื้นที่นี้ไปได้ ซึ่งด้วยการปฏิบัติการที่มีความเสี่ยงจึงต้องขอชื่นชมในผลงานที่ผ่านมาเป็นอย่างมากที่ทำให้ยาเสพติดทะลักสู่ชั้นในของไทยและเข้าไปถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วย
นายปีเตอร์ กล่าวด้วยว่า เรารู้ว่ายาเสพติดเป็นแบบอาชญากรรมข้ามชาติอาจมาจากที่อื่น เป็นปัญหาที่พบหลายๆ ที่แม้แต่ในสหรัฐไม่ว่าจะชายแดนใต้และเหนือ อาชญากรก็มักจะลักลอบขนออกจากอีกฝ่ายหนึ่งไปยังพื้นที่ของอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงการควบคุมจากทั้ง 2 ข้าง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติจึงวุ่นวายกว่าอาชญากรรมธรรมดาและสำคัญที่สุดที่เราปรึกษากันคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ยิ่งกรณีของชายแดนไทยจะพบว่ามีขายแดนที่ยาวไกลและภูมิประเทศเป็นทั้งภูเขา ป่าและแม่น้ำ ครั้นจะให้เจ้าหน้าที่เฝ้าชายแดนตลอดทางคงเป็นไปไม่ได้จึงต้องร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่จากประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางสหรัฐก็เคยร่วมมือกับมิตรประเทศหลายประเทศป้องกันและแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้มาแล้ว และสำหรับกับประเทศไทยก็จะร่วมมือต่อไปและถือว่าเป็นความร่วมมือที่ยาวนานที่สุดในภูมิภาคนี้เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกันสูงด้วย
“ในปัจจุบันประเทศสหรัฐฯ ก็มี DEA อยู่ที่กรุงย่างกุ้ง ด้วยและร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เมียนมาแต่ก็ทราบปัญหาภายในเมียนมาว่าจะแก้ไขปัญหาหรือความท้าทายภายในที่เป็นลักษณะเฉพาะไม่ได้จึงช่วยได้เท่าที่ช่วยได้ สำหรับตนก็จะพยายามประสานความร่วมมือกับประเทศไทยเพื่อป้องกันชีวิตคนไทย คนอเมริกันและหลายประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากยาเสพติดที่ผ่านย่านนี้ด้วย” นายปีเตอร์ กล่าว.