วช. จัดสัมมนาร่วมทางวิชาการระหว่างไทย – อินเดีย ครั้งที่ 13
เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุม โรงแรม เอสตาร์ ภูแล เชียงราย จ.เชียงราย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สภาวิจัยสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐอินเดีย (ICSSR) จัดการสัมมนาร่วมทางวิชาการระหว่างไทย – อินเดีย ครั้งที่ 13 ในเรื่อง “โอกาสที่ยังมิได้สำรวจของไทยและอินเดีย” และ “การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมไทยและอินเดีย ครั้งที่ 14” ระหว่างวันที่ 16–18 ก.พ.2562
ในพิธีเปิดมี ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ Braj Bihari Kuma ประธานสภาวิจัยสังคมศาสตร์ แห่งสาธารณรัฐอินเดีย ร่วมกล่าวเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้ร่วมประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานต่างๆทั่วประเทศ และจากต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้จำนวนมาก
ศ.นพ. สิริฤกษ์ กล่าวว่า วช. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ร่วมกับสภาวิจัยสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่ประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์ระหว่างประเทศไทยและอินเดีย ผ่านกิจกรรมการสัมมนาที่จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพระหว่าง วช. และ ICSSR ภายใต้หัวข้อการสัมมนาที่เห็นพ้องกัน ตั้งแต่ปี 2551 – 2559 รวมทั้งสิ้นจำนวน 10 ครั้ง โดยจัดที่สาธารณรัฐอินเดีย 5 ครั้ง และประเทศ ไทย 5 ครั้ง ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมระหว่างไทย – อินเดีย เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2561 ณ Mahabodhi Hotel เมืองคยา สาธารณรัฐอินเดีย ที่ประชุมได้เห็นชอบให้กำหนดจัดสัมมนาร่วมทางวิชาการระหว่างไทย – อินเดีย ครั้งที่ 13 และ “การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมไทยและอินเดีย ครั้งที่ 14” ภายใต้หัวข้อเรื่อง “โอกาสที่ยังมิได้สำรวจของไทยและอินเดีย” เนื่องจากสาธารณรัฐอินเดีย ได้กำหนดนโยบายสร้างความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ไกลจากสาธารณรัฐอินเดีย ทำให้ประเทศไทยและอินเดียมีความสัมพันธ์ด้านการค้า ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมอย่างยาวนานผ่านการเชื่อมโยงทางทะเลเป็นหลัก
“นับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยและอินเดียจะได้สานต่อความร่วมมือใน 6 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาสังคมและชุมชน เศรษฐกิจการค้า เทคโนโลยีสารสนเทศ ทรัพย์สินทางปัญญา การท่องเที่ยว และความมั่นคง ซึ่งปัจจุบันมีความสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยให้นักวิจัยสังคมศาสตร์ของทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลทางวิชาการเชิงเปรียบเทียบที่สำคัญ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ ทั้งนี้ ยังมุ่งหวังว่าองค์ความรู้ที่จะได้รับจากการสัมมนาจะสามารถนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อการพัฒนาประเทศร่วมกัน รวมถึงเกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยทางสังคมศาสตร์ในประเด็นที่สำคัญร่วมกันต่อไป” ศ.นพ. สิริฤกษ์ กล่าว
ทางด้าน Braj Bihari Kuma กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของไทยและอินเดียมีมายาวนาน มีรากฐานทั้งในด้านวัฒนธรรม ศาสนาและภาษา ที่ผ่านมาบางครั้งอินเดียคิดว่าเค้าเป็นผู้ส่งออกในเรื่องนี้มาโดยตลอดและเป็นอยู่ทุกวันนี้ ทั้งเรื่องศาสนา ฮินดู พราห์ม แต่ปัจจุบันทางอินเดียจะต้องคิดใหม่ว่าสิ่งที่ประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้รับมาแล้วเขาคิดยังไง ต่อจากนี้ต่อไปในฐานะที่ตนเองทำงานในตำแหน่ง ประธาน วช.อินเดีย จะทำการแปลงานที่ดีของไทยที่บ่งบอกวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ไปเป็นภาษาอังกฤษและภาษาอินเดีย เพื่อให้คนอินเดียหันมาเข้าใจตัวตนของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพัฒนาไปด้วยความรวดเร็ว และส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุนที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต.