คาดข้าวเชียงรายทะลักครึ่งล้านตัน ธกส.เตรียมมาตรการรองรับ
เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุม สำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ.เชียงราย นายดุสิต เหลี่ยมวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จ.เชียงราย ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสหกรณ์ในพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อชี้แจงโครงการเพื่อรองรับฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรปีการผลิต 2561-2562
โดยทาง ธ.ก.ส.แจ้งว่า ในฤดูเก็บเกี่ยวนี้คาดว่าเกษตรกรชาวเชียงรายจะมีผลผลิตข้าวนาปีออกมารวมกันประมาณ 567,000 ตัน โดยเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิประมาณ 178,000 ตัน ข้าวเปลือกเหนียวประมาณ 389.000 ตัน ปัจจุบันเก็บเกี่ยวกันไปแล้วประมาณ 60% ดังนั้น ธ.ก.ส.จึงมีโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี ดำเนินระหว่างเดือน พ.ย.2561-ก.พ.2562 เพื่อให้เกษตรกรชะลอขายข้าวเปลือกแล้วให้เก็บข้าวเอาไว้เพื่อลดความชื้นและรอราคาที่จะสูงขึ้น
นายดุสิต กล่าวว่า ทางโครงการได้กำหนดวงเงินสำหรับข้าวเปลือกความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 กรณีข้าวเปลือกหอมมะลิสีได้ต้นข้าว 36 กรัมขึ้นไปตันละ 11,800 บาท และลดต่ำลงตามขั้นคุณภาพละ 200 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวตันละ 10,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 7,500 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 8,900 ตัน โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถเก็บข้าวไว้ที่ยุ้งฉางของตัวเองหรือฝากกับสถาบันเกษตรกรที่มีสถานที่รับฝาก โดยหากเก็บไว้นานกว่า 1 เดือนจะได้รับค่าฝากเก็บและดูแลรักษาตันละ 1,500 บาท ส่วนสถานที่รับฝากได้รรับตันละ 500 บาทรวมเป็น 1,500 บาท
“ปัญหาการเก็บเกี่ยวข้าวจำนวนมากแล้วนำมาขายพร้อมกันทำให้ราคาตกต่ำ โครงการจึงเพิ่มทางเลือกด้วยการตากและนำมาเก็บไว้ก็จะมีโอกาสรอให้ราคาสูงขึ้น โดยหากเก็บไว้นานกว่า 1 เดือนก็ยังได้รับค่าฝากเก็ฐและดูแลรักษาดังกล่าวอีกด้วยซึ่งเกษตรกรสนใจสามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส.ใกล้บ้านได้” นายดุสิต กล่าว
นอกจากนี้กรณีสถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์ต่างๆ ฯลฯ ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มปีการผลิต 2561-2562 ให้อีกด้วยเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้นำเงินไปรับซื้อข้าวจากเกษตรกร ชะลอปริมาณข้าวที่จะออกสู่ตลอดและส่งเสริมการเก็บข้าวเแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยได้ตั้งวงเงินสินเชื่อไว้จำนวน 12,500 ล้านบาท โดยสถาบันเกษตรกรับภาระดอกเบี้ยร้ยละ 1 ต่อปีและรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกรในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561-31 ธ.ค.2562 สำหรับ จ.เชียราย คาดว่าจะมีสถาบันเกษรกรเข้าร่วมจำนวน 12 แห่ง วงเงินจำนวน 1,114 ล้านบาท รวมจำนวนข้าวเปลือกทั้งสิ้น 87,600 ตัน.