ข่าวเด่น

สุดทึ่ง!โคมยี่เป็งโบราณมีภาพเหมือนทีวีขาวดำ ขับเคลื่อนการหมุนด้วยเทียนเล่มเดียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านเลขที่ 63 หมู่บ้านฮ่องแฮ่ หมู่ 4 ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย คุณพ่อหนานทองอินทร์ ปัญโญกาศ วัย 73 ปี ได้ใช้เวลาว่างจากการงานปกติจัดทำโคมผัด ซึ่งเป็นภาษาเหนือแปลว่า “โคมที่หมุนได้”  ซึ่งหาดูชมได้ยากมากในยุคสมัยปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ในอดีตชาวภาคเหนือมักจะทำโคมลอย โคมแขวน โคมไฟ ฯลฯ เพื่อประกอบประเพณีลอยกระทงหรือที่เรียกกันว่ายี่เป็งทุกวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ของทุกปี ทำให้เกิดความสว่างไสวยามค่ำคืนหรือกรณีของโคมลอยและโคมแขวนก็จะมีความงดงามในช่วงเวลากลางวันเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามสำหรับโคมผัดนี้มีเฉพาะบางพื้นที่และคนที่จะทำได้ก็มีอยู่น้อยคนด้วย

คุณพ่อหนานทองอินทร์ กล่าวว่า ในอดีตมีการจัดทำโคมผัดก็เพื่อเป็นสิ่งที่ใช้ดูเพื่อความบันเทิงในยามค่ำคืน โดยจะทำควบคู่ไปกับโคมชนิดอื่นๆ ในช่วงเทศกาลยี่เป็งแต่เนื่องจากในอดีตนั้นไม่มีจอภาพยนตร์หรือโทรทัศน์หรือแม้กระทั่งวิทยุก็หาฟังได้ยาก ดังนั้นยุคโบราณผู้เฒ่าผู้แก่จึงได้คิดค้นทำโคมหมุนขึ้นมา แล้วนำมาแสดงโดยจะปรากฎให้เห็นเงาของสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น คน สัตว์ประเภทต่างๆ หรือแล้วแต่ผู้จัดทำจะคิดค้นได้ เป็นต้น เพื่อให้ความบันเทิงกับผู้ชมยามค่ำคืนลอยกระทงด้วย

การจัดทำโคมผัดนั้นถือว่ายากเพราะต้องใช้กระดาษสาบางเป็นฉาก 4 ด้านๆ ละเท่าๆ กันประมาณ 1 เมตร สูง 1 เมตร โดยใช้ไม้ไผ่เป็นโครงส่วนภายในก็จะมีแกนนำที่หมุนได้แล้วตัดกระดาษเป็นรูปต่างๆ ที่ต้องการให้สะท้อนแสงออกมาสู่ฉาก เมื่อนำเทียนหรือตะเกียงไฟไปตั้งไว้ด้านล่างกระดาษด้านบนที่มีลักษณะคล้ายฟันเฟืองก็จะทำให้เกิดการหมุน และรูปทรงจากกระดาษก็จะสะท้อนเงาออกมายังฉากด้านนอกทำให้เกิดรูปภาพและลวดลายได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งการจัดทำต้องใช้ความชำนาญและเรียนรู้กันเป็นทอดๆ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำให้เกิดการหมุนได้อย่างสมดุลได้แม้แต่พ่อหนานทองอินทร์บอกว่ากว่าจะทำได้ก็ต้องทำเสียซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายรอบด้วย

ปัจจุบันทางหมู่บ้านและโรงเรียนในท้องถิ่นได้เข้าเรียนรู้และขอให้พ่อหนานอินทร์ได้ช่วยสอนคนรุ่นหลังให้รู้จักกับโคมผัดและโคมชนิดอื่นๆ รวมถึงประเพณีอื่นๆ ที่อยู่ในท้องถิ่นให้กับคนรุ่นใหม่อีกด้วย.