ข่าวเด่น

มฟล.จัดถอดบทเรียนถ้ำหลวงหลายฝ่ายชี้ปรับแผนรับภัยพิบัติต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมคำมอกหลวง อาคารอี-พาร์ค มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานจัดกิจกรรมสรุปบทเรียนจากทีมหมูป่าติดถ้ำหลวงถึงปัญหาภัยพิบัติ:ชาวเชียงรายเรียนรู้อะไร? โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมครบครันรวมและยังมี นายชิเกกิ มิยาเกะ ตัวแทนจากมูลนิธิไจกา ประเทศญี่ปุ่น ประจำประเทศไทยเข้าร่วมด้วย กิจกรรมมีการจัดอภิปรายโดยผู้เกี่ยวข้อง การแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น และสรุปเนื้อหาโดยมี รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นประธานในพิธีเปิดและมี รศ.ดร.ศิริพร วัชชวัชคุ เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยรศ.ดร.ชยาพร กล่าวว่า เหตุการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทีมหมูป่าอาคาเดมี จำนวน 13 คนที่ผ่านมาเป็นที่สนใจของผู้คนทั้งโลก ขณะที่พื้นที่ จ.เชียงราย เป็นแหล่งที่มีภัยธรรมชาติทั้งแผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ฯลฯ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่สถาบันการศึกษาในพื้นที่จะได้ร่วมกันศึกษาข้อมูล วิเคราะห์และจัดทำเป็นบทเรียนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต ดังนั้นกิจกรรมครั้งนี้จึงระดมนักวิชาการทั้งใน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมงคลล้านนาเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) ฯลฯ และผู้ที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการช่วยเหลือดังกล่าวเข้าร่วม และหากมีภัยพิบัติเกิดขึ้นอีกในอนาคตก็จะได้นำบทเรียนที่ได้มาใช้ประโยชน์ต่อไป

รศ.ดร.ศิริพร กล่าวว่า ปฏิบัติการนี้เป็นเหตุการณ์เฉพาะที่ทำให้ภาครัฐต้องเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือเป็นการภายในแต่เมื่อเกินกว่าจะรับมือได้จึงประสานขอความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชนและไปถึงต่างประเทศ ทำให้เราได้เห็นปรากฎการณ์ผู้คนที่หลากหลายเข้ามามีส่วนร่วมและทำให้ต้องศึกษาเป็นบทเรียนว่าจะต้องมีการประสานงาน สั่งการ บริหารจัดการอย่างไร เพราะผู้เข้ามาร่วมจำนวนมากไม่ใช่หน่วยงานของรัฐหรืออยู่ต่างหน่วยกัน

ทางด้าน นายชิเกกิ มิยาเกะ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ประเทศญี่ปุ่นได้แสดงเจตจำนงค์จะเข้ามาช่วยเหลือเองตั้งแต่ต้น และได้จัดส่งเครื่องมือ วิศวกร หุ่นยนต์ช่วยเหลือ ระบบดาวเทียม เรดาห์ที่ทำให้เห็นทางไหลน้ำ รูปทรงของขุนเขาที่ชัดเจน เพราะเรามีประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่นมาแล้วเป็นอย่างดีและดีใจที่ปฏิบัติการประสบความสำเร็จด้วยดี

นายไพฑูรย์ นาคแท้ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขต 15 เชียงราย กล่าวว่า ครั้งแรกๆ ที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ต้องยอมรับว่าแทบไม่มีใครรู้เรื่องภายในถ้ำเลยจึงได้ระดมเจ้าหน้าที่กู้ภัยใน จ.เชียงราย ซึ่งต่างมีความสามารถเข้าไปช่วยเหลือเบื้องต้นคาดว่าวันที่ 26 มิ.ย.หรือหลังเกิดเหตุ 3 วันก็คงแล้วเสร็จแต่ไม่เป็นเช่นนั้น จึงระดมเครื่องสูบน้ำและหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือหรือหน่วยซีลพร้อมด้วยนักประดาน้ำที่สนับสนุนก็รุกเข้าไปถึงโถง 3 ลึกกว่า 1,500 เมตร แต่ก็ถูกน้ำไหลทะลักเข้าท่วมจนต้องถอยร่นออกมาจนหมดจึงทำให้ทราบว่าภัยครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาทั่วไป เพราะไม่ใช่แค่เรื่องระดับน้ำแต่ยังต่อสายไฟฟ้าเข้าไปได้ยากเพราะลึกและผ่านน้ำหลายจุด ต้องใช้ทั้งการดำและการว่ายน้ำในบางจุด เมื่อสายไฟฟ้าเข้าไปถึงโถง 3 ก็มีกำลังลดลงเพราะเข้าไปลึกมากจนต้องต่อสายที่ 2 เข้าไปเพิ่มเติม เป็นต้น ขณะที่มีผู้อาสาจะช่วยเหลือจากทั่วโลกและหลายอุปกรณ์ดังนั้นจึงต้องเกลี่ยกันออกไปทำงานต่างๆ ซึ่งบางอุปกรณ์ก็ให้ทำเพราะไม่ต้องการให้เสียกำลังใจกระทั่งผ่านพ้นไปได้ด้วยดีดังกล่าว

ด้านนายณัฐพล สิงห์เถื่อน จากมูลนิธิกระจกเงาซึ่งมีบทบาทในการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือ กล่าวว่า จ.เชียงราย เคยมีภัยพิบัติใหญ่ๆ มาตั้งแต่ปี 2557 เรื่องของแผ่นดินไหว จากนั้นก็มีน้ำท่วมและมีเหตุติดในถ้ำหลวงดังกล่าว และเมื่อมองไปยังพื้นที่อื่นๆ ใกล้เคียง เช่น จ.น่าน ซึ่งมีชาวบ้านเสียชีวิตจากดินถล่มกว่า 8 รายทั้งๆ ที่ประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยง ขณะที่พื้นที่แผ่นดินไหวของ จ.เชียงราย ก็ยังมีประชากรอาศัยอยู่เช่นเดิมจึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและทำเป็นบทเรียนว่ากรณีภัยพิบัติต่างๆ เหล่านี้จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ซึ่งตนเคยไปประเทศญี่ปุ่นพบว่าเขามีการปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กๆ จึงสามารถนำมาเป็นบทเรียนได้ต่อไป.