ข่าวเด่น

โฟม “ต้นแบบจ่าแซม” มาถึงแล้ว เตรียมปั้นรูปวีรบุรุษแห่งถ้ำหลวง

เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ผู้รังสรรค์ศิลปะวัดร่องขุ่น พร้อมด้วยอาจารย์สราวุฒิ คำมูลชัย ศิลปินปั้นรูปจ่าแซม ได้นำศิลปินรับโฟมต้นแบบรูปปั้น นาวาตรี สมาน กุนัน หรือ “จ่าแซม” นักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการ อายุ 38 ปี ปัจจุบันเป็นพนักงาน ทอท.ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตระเวนระงับเหตุ ฝ่ายรักษาความปลอดภัย เป็นอดีตหน่วยซีล ท่านได้สละชีวิตจากการเข้าไปช่วยเหลือเด็ก ๆ นักฟุตบอลทีมหมูป่า จำนวน 13 คน ที่ถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ผ่านมา

สำหรับโฟมต้นแบบจ่าแซม ได้ส่งมาจากร้าน เอฟซ่ากัดโฟม อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เพื่อให้ศิลปินเชียงรายได้ใช้ปั้นเป็นต้นแบบเพื่อจะทำการหล่อด้วยโลหะบรอนด์สำหรับนำไปตั้งหน้าศาลาพิพิธภัณฑ์ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง ขณะที่ภายในโรงเหล็กวัดร่องขุ่น อาจารย์ สราวุฒิได้จัดเตรียมดินน้ำมันอย่างดี อุปกรณ์ปั้น และชุดประดาน้ำครบรูปแบบของนาวาตรีสมานเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการปั้นให้เป็นดินน้ำมันอย่างเต็มรูป

โดยอาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่า หลังจากได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชแล้วทางศิลปินเชียงราย ก็ได้เริ่มดำเนินการสร้างรูปปั้นดังกล่าวโดยทันที โดยอาจารย์สราวุฒิได้ปั้นตัวแบบและส่งไปทำโฟมต้นแบบที่ จ.นครปฐม และนับจากนี้จะเป็นขั้นตอนการนำดินน้ำทำการปั้นขึ้นรูปโดยจะมีการเพิ่มเติม ตัดต่อและตกแต่งให้มีความสวยงาม พอดี สมจริงและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะต้นแบบครั้งแรกที่ทำขึ้นมีเวลาจำกัดจึงใช้เวลาทำอย่างรวดเร็วทำให้ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร โดยการปั้นด้วยดินน้ำมันจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนด้วยการระดมศิลปินไปทำวันละอย่างน้อย 5 คนต่อ 1 สัปดาห์หมุนเวียนกัน โดยอาจารย์สราวุฒิ จะรับผิดชอบคุมงาน จากนั้นจะส่งไปยังร้านเอเชียไฟอาร์ต ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อทำแบบพิมพ์ใช้ระยะเวลาประมาณ 15 วันก่อนจะทำการหล่อโลหะใช้เวลาอีกประมาณ 4 เดือนแล้วจึงยกไปตั้งที่หน้าศาลาที่จะสร้างขึ้น ภายในถ้ำหลวง วนอุทยานขุนน้ำนางนอน ตามรูปแบบต่อไป

อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า รูปปั้นจ่าแซม จะสูงประมาณ 2.60 เมตรไม่รวมฐาน โดยฐานและส่วนประกอบด้านล่างจะสูงประมาณ 3.50 เมตร ทำให้ทั้งหมดจะมีความสูงจากพื้นประมาณ 5.10 เมตร โดยตั้งอยู่หน้าศาลาที่มีความกว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 20 เมตร และมีห้องน้ำชายและหญิงยาวประมาณ 10 เมตรแยกกันเป็น 2 อาคาร ภายในศาลาก็จะนำภาพวาดยาว 13 เมตร กว้าง 3 เมตรไปจัดแสดง โดยปัจจุบันภาพดังกล่าวยังคงวาดไปเรื่อยๆ เพราะได้มีการประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เข้าไปปฏิบัติที่ถ้ำหลวงทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ หน่วยซีล ฯลฯ เพื่อให้รายละเอียดของภาพคือการปฏิบัติการที่แท้จริง ดังนั้นที่ผ่านมาจึงตัดภาพบางส่วนออกและเพิ่มเติมลงไปทำให้ยังไม่นิ่งพอและแก้ไขกันไปเรื่อยๆ

“สำหรับโครงการดังกล่าวนั้นตนจะไม่รับเงินบริจาคจากใครทั้งสิ้น เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาภายหลังโดยเฉพาะมักมีการพูดโอ้อวดทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาว่าได้บริจาคเงินจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าตนไประดมเงินจากชาวบ้านมาสร้างใช้งบประมาณเป็น 100 ล้านแล้วก็นินทากันไปต่างๆ นานา ทำให้ตนเสียหาย ดังนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะเงินเท่านั้นแต่รวมถึงปูน หิน ดิน ทราย หรืออื่นๆ ด้วย แต่หากมาในรูปแบบอื่นๆ เช่น เอฟซ่ากัดโฟมที่ จ.นครปฐม หรือร้านเอเชียไฟอาร์ตที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ตนไปว่าจ้างให้ทำแล้วกลับไม่รับเงินเลยทั้งยังนำมาส่งและติดตั้งให้ถึงที่ จ.เชียงราย โดยระบุว่าต้องการมีส่วนร่วมในการทำบุญครั้งนี้ด้วย ฯลฯ ตนก็จะยอมและขอขอบคุณด้วยเป็นอย่างยิ่ง” อาจารย์ เฉลิมชัย กล่าว

ทางด้านอาจารย์สราวุฒิ กล่าวว่า การจัดทำรูปปั้นจ่าแซม พบว่ามีคนเข้ามาช่วยกันมาก โดยตนทำหน้าที่ปั้นต้นแบบใช้เวลาแค่ 1 คืน ซึ่งตนเองก็ไม่รู้ว่าทำได้อย่างไรแต่ทำเพราะมีแรงบันดาลใจ จากนั้นเมื่อเตรียมดินน้ำมันด้วยการต้มที่บ้านปรากฎว่าชาวบ้านทั้งผู้ใหญ่และเด็กพากันมาช่วยเป็นจำนวนมากเพราะต้องใช้ดินน้ำมันกว่า 1 ตันจะเสร็จสมบูรณ์ ส่วนร้านเอฟซ่ากัดโฟม ที่ทำแบบโฟของจ่าแซม ตามปกติต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 60,000-70,000 บาทแต่ทางร้านไม่คิดเงินโดยทำให้ฟรีและยังขนมาติดตั้งให้ถึงที่ด้วย เช่นเดียวกับร้านหล่อโลหะที่ใช้ต้นทุนอย่างต่ำ 4-5 ล้านบาทด้วย หรือแม้แต่การปั้นที่ จ.เชียราย ศิลปินก็แวะเวียนไปช่วยซึ่งถือได้ว่าทุกฝ่ายช่วยกันเพื่ออุทิศให้จ่าแซมอย่างแท้จริง.