ททท.ชร. หนุนท่องเที่ยวชุมชน รีไซเคิลกระดาษสา
น.ส.กรุณา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย เปิดเผยว่า ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้โลกปัจจุบันมีความเจริญเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ในทางกลับกันเทคโยโลยีก็ได้สร้างปัญหาและผลกระทบเกิดขึ้นมากมายเช่นกัน ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้คือเรื่องของขยะ ซึ่งเกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ทั้งขยะภายในครัวเรือน สถานศึกษาหรือที่ทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อถิ่นที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวก็ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการก่อให้เกิดขยะและทำลายสิ่งแวดล้อม
น.ส.กรุณา กล่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย จึงตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้จับมือสถานศึกษา ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ชุมชนบ้านปางห้า ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย รณรงค์ให้มีการนำขยะเหลือใช้จากพื้นที่ต่างๆ มาทำการรีไซเคิล เพื่อลดการทิ้งขว้างและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าท้องถิ่น เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ที่ได้ประโยชน์นอกจากลดมลภาวะแล้วยังเพิ่มคุณค่าให้กับชุมชน
“เศษกระดาษเหลือใช้ที่ได้จากการเก็บรวบรวม และรับบริจาค จะถูกนำมาแช่น้ำ ทำการย่อยสลาย และนำมาแปรรูปผ่านขบวนการผลิตกระดาษสา ที่จินดาลักษณ์กระดาษสา ซึ่งฐานการท่องเที่ยวชุมชนอีกจุดหนึ่งของ ททท.เชียงราย โดยมีประสบการณ์ทำกระดาษสามานานกว่า 20 ปี กระดาษสาที่ได้นอกจากจะเป็นการลดต้นทุนยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย อาทิการทำตุง กระเป๋า ร่ม โคมไฟ กล่องกระดาษทิชชู ดอกไม้ ข้าวของเครื่องใช้อีกสารพัด ตลอดจนนำไปประดับตกแต่งบ้านหรือร้านอาหาร” น.ส.กรุณา กล่าว
น.ส.กรุณา กล่าวด้วยว่า กระดาษต่างๆที่ผ่านมาหากไม่นำมาแปรรูปก็จะถูกนำไปทิ้ง ซึ่งแต่ละชุมชนมีจำนวนมาก จึงมองว่าน่าจะนำมาเป็นกิจกรรมสำหรับการท่องเที่ยวได้ โดยชุมชนเองก็มีความภาคภูมิใจทั้งผู้รับและผู้ให้ นักท่องเที่ยวก็มีส่วนร่วมในการทำกระดาษสา เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วย โดยคาดว่าจะได้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่สนใจในสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา ททท.ก็มีการรณรงค์ไม่ใช้ขวดน้ำหรือหลอดพาสติก โดยให้นักท่องเที่ยวมีขวดน้ำเป็นของตัวเอง ซึ่งจะเป็นกระแสให้คนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ท่องเที่ยวแบบใส่ใจรักษ์โลกมากขึ้น
ทางด้าน น.ส.จินนาลักษณ์ ชุ่มมงคล ท่องเที่ยวชุมชนบ้านปางห้า ฐานกระดาษสา กล่าวว่า สำหรับการผลิตกระดาษสารีไซเคิลจะใช้กระดาษจากเศษขยะเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเก่า สมุดใช้งานแล้ว เศษกระดาษปริ้นท์งาน กล่องลัง หรือกระดาษเอกสารสำนักงาน ในอัตรา 90 ต่อ 10 ส่วน โดยมีเยื่อต้นสาผสมเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น สามารถผลิตเป็นกระดาษสาเพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆที่หลากหลาย อีกทั้งปัจจุบันที่ฐานยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวร่วมทำลวดลายกระดาษสาด้วยวัสดุธรรมชาติถือเป็นจุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวในมิติใหม่ ที่นอกจากจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมยังถือเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนของการนำกระดาษมาให้ กระบวนการผลิตกระดาษ และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์.