42 นาที!! ซ้อมแผนนำ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง ส่ง รพ.ทางรถยนต์
ซ้อมแผนนำ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง ส่ง รพ.ทางรถยนต์ -ฟื้นฟูโพรงหลังเหตุการณ์ถ้ำหลวง
เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปฏิบัติภารกิจร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในช่วงบ่ายนี้ ได้มีการจัดซ้อมใหญ่ขนย้ายลำเลียงนักเตะฟุตบอลเยาวชนทีมทีน ทอล์ค (หมูป่า) อะคาเดมี แม่สาย จำนวน 13 คน ซึ่งติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่เย็นวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา จากถ้ำหลวงไปยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งใช้เป็นสถานที่ในการตรวจร่างกายและดูแลรักษาอาการหากพบมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น โดยมีระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรโดยใช้รถยนต์ตำรวจจำนวน 13 คัน เป็นเสมือนรถตู้พยาบาลและมีตำรวจดูแลการจราจรมาตลอดแนวตั้งแต่ออกจากถ้ำหลวงไปถึงถนนพหลโยธินแล้วเลี้ยวซ้ายไปทางทิศเหนือก่อนจะเลี้ยวกลับไปทาง อ.เมืองเชียงราย และเลี้ยวขวาตรงแยกศรีทรายมูลในเขตเทศบาลนครเชียงรายสู่อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน 14 ชั้นของโรงพยาบาล ผลปรากฎว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 42 นาทีในการเดินทางดังกล่าว
โดยศูนย์อำนวยการร่วมฯ แจ้งว่าวันเดียวกันทาง พล.ต.วุฒิชัย อิศระ แพทย์ใหญ่กองทัพภาคที่ 3 หัวหน้าทีมโรงพยาบาลสนามที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าถ้ำหลวงดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยหน่วยแพทย์กองทัพภาคที่ 3 ทั้ง 10 โรงพยาบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทั้งหมดจะมีกระบวนการรักษามี 3 ขั้นตอน ขั้นแรกเป็นขั้นเตรียมการ มีการหาข้อมูลความเจ็บป่วยของทั้ง 13 คน ประเมินจากน้ำหนัก อายุ โรคประจำตัว และปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคลที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วย ขั้นที่สองคือ วางแผนวิเคราะห์เหตุที่จะเกิด คือ การขาดสารอาหาร ซึ่งแพทย์ได้เตรียมสารอาหารสำหรับบำรุงร่างกายให้แข็งแรงก่อนนำออกมา เบื้องต้นเมื่อหน่วยค้นหาพบและให้การรักษาพยาบาลเพื่อช่วยชีวิตแล้ว ได้มีนักประดาน้ำคือ พ.ท.นายแพทย์ภาคย์ โลหารชุน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำซึ่งจบหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือซีล ทำการประเมิน วางแผนเคลื่อนย้ายมายังโรงพยาบาลสนามก่อนจะพาไปยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ต่อไป
ในวันเดียวกัน นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ปัจจุบันแหล่งน้ำที่ห้วยน้ำดั้นปิดแล้ว ไม่มีน้ำเข้าไปยังถ้ำหลวงอีกแล้ว แต่ก็ได้ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี มณฑลทหารบกที่ 37 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ส่วนทางด้านทิศใต้ของถ้ำมีลำห้วย 2 สาย คือ ผาหมี และผาฮี้ ซึ่งไหลมารวมกันเป็นห้วยใหญ่คือห้วยมะกอก ได้มีการวัดปริมาณน้ำจากจุดเริ่มต้น เลยไป 200 เมตร พบโพรงใหม่ 2 โพรง ระดับน้ำหายไปกว่าร้อยละ 50 จึงได้ทำฝายปิดห้วยมะกอก และทำทางเบี่ยงทางน้ำ ขณะนี้ติดตั้งท่อส่งน้ำ 6 เส้น ความยาว 200 เมตร เพื่อเบี่ยงเส้นทางไม่ให้น้ำเข้าถ้ำ
“นอกจากนี้มีแผนฟื้นฟูจากการสำรวจโพรงทั้ง 13 โพรง ที่ได้เจาะไปแล้ว 3 โพรง โดยจะมีการอุดโพรงที่ไม่เชื่อมต่อกับถ้ำ ซึ่งทำได้ไม่ยาก ส่วนฝายที่เบี่ยงทางน้ำไว้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะรื้อออกทั้งหมด เพื่อให้ระบบนิเวศน์กลับมาเหมือนเดิม พร้อมทั้งวางแผนการฟื้นฟูให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้วางแผนวางระบบเตือนภัยไว้ทั้งหมดทั้งที่บริเวณถ้ำหลวง และวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต่อไป” นายจงคล้าย กล่าว
ทั้งนี้ตลอดทั้งวัน ทั้งคืน ได้ทำการสูบน้ำออกจากถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ออกมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน พบว่าระดับน้ำภายในถ้ำหลวงในวันนี้ได้เพิ่มระดับสูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย
โดยในช่วงเช้าถึงบ่ายระดับน้ำที่ปากถ้ำตั้งจะลึกในระดับประมาณ 32-35 ซ.ม.แต่ในระยะลึกเข้าไปประมาณ 300 เมตร พบว่าระดับน้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมอยู่ในระดับประมาณ 41-43 ซ.ม. ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 55 ซ.ม. ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ยังคงสูบน้ำออกจากถ้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังคงกั้นลำห้วยน้ำดั้นให้เบี่ยงทางน้ำไม่ให้ไหลสู่ถ้ำหลวงและสำรวจปิดช่องทางน้ำอื่นๆ เพิ่มเติม ขณะที่สภาพอากาศสดใสไม่มีฝนตกลง.