เชียงรายขอตั้งกองทุนแก้ปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงรายว่า ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ประธานคณะอนุกรรมการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชนเมือง พร้อมคณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ติดตามความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมี นายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) นางภัทราวดี ปัญญาบุญ นายอำเภอพาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูล
โดยนายกมลไชย กล่าวว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมาการตรวจวัดค่าความร้อนหรือจุดฮอตสปอร์ต พบว่ามีปริมาณลดลงกว่าทุกปีเหลือเพียง 20 จุด ทั้งนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและประชาชน ในการป้องกันและเข้าแก้ไขปัญหาการดับไฟอย่างรวดเร็ว ในการเกิดเหตุ 85 ครั้ง โดยไฟป่าที่เกิดขึ้นในภาคเนื้อรวมทั้งจังหวัดเชียงรายร้อยละ 60 เกิดจากเผาเพื่อเก็บหาของป่าและล่าสัตว์ รองลงมาคือการเผาไร่โดยไม่ทำแนวกันไฟทำให้เกิดไฟลามจากพื้นที่เกษตรเข้าสู่พื้นที่ป่า ส่วนหนึ่งมาจากไฟลามจากจังหวัดข้างเคียงอย่างยิ่งฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างเชียงใหม่กับเชียงราย โดยเฉพาะเขตอุทยานแห่งชาติเวียงผา ซึ่งปลอดเจ้าหน้าที่ดูแลเพราะเป็นจุดเกรงใจ
นายกมลไชย กล่าวอีกว่า ประเด็นคือเรื่องของการแกล้งจุดหรือตั้งใจจุดไฟเผา ซึ่งปีที่ผ่านมามีการจับกุมคนเผาได้โดยกล้องซีซีทีวีตามถนน จับภาพได้ สร้างความเสียหายประมาณ 125 ไร่ สร้างความเสียหายกว่า 8 ล้านบาท และที่สำคัญคือควันไฟที่ลอยข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศเมียนมา ซึ่งไม่สามารถป้องกันได้ โดยมีเครื่องตรวจวัดความร้อนเป็นตัวชี้วัด ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อย่างยิ่งอำเภอแม่สาย ซึ่งมีค่าเกินมาตรฐานบางช่วงเวลาสูงกว่า 400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สภาวะอย่างนี้เป็นอันตรายอย่างมากต่อประชาชน
นายกมลไชย กล่าวด้วยว่า ในปีนี้ทางสำนักฯจึงมีการเตรียมความพร้อมในการดูแลป่าของ จ.เชียงรายและพะเยา มีสถานีไฟป่าอยู่ 6 สถานี มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 300 นายเศษ ดูแลพื้นที่เฉพาะ จ.เชียงราย 1.3 ล้านไร่ โดยตั้งเป้าไม่ให้ไฟป่าเกิดขึ้นเลยตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีการจัดศูนย์ประสานงานควบคุมไฟป่าขึ้น ให้ทุกหน่วยงานทำความเข้าใจกับชุมชนเครือข่าย 68 ชุมชน มีเครือข่ายชุมชนละ 100 คน วึ่งรวมแล้วมีคนอยู่ในพื้นที่ 6,800 คน ที่จะเป็นแนวร่วมในเรื่องของการเฝ้าระวังไฟป่าและหมอกควัน และพร้อมเผชิญเหตุหากเกิดไฟป่าในพื้นที่
นายกมลไชย กล่าวว่าปีนี้ได้รับงบประมาณในการฝึกอบรมราษฎรในพื้นที่เสี่ยง 5 อำเภอ คือ แม่สรวย เวียงป่าเป้า พญาเม็งราย เมือง และแม่ฟ้าหลวง จำนวน 88 รุ่น ใน 88 ชุมชน รุ่นละ 100 คน หลังการอบรมมีการคัดเลือกราษฎรที่มีความสามารถมาช่วยเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 เมษายน ระยะ เวลา 90 วัน นอกจากนี้ทางกรมอุทยานฯยังให้งบมาจัดตั้งเครือข่ายเพิ่มอีก 20 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 50,000 บาท เพื่อทำแนวกันไฟและจัดกำลังลาดตระเวณในช่วง 60 วันห้ามเผา ขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจไว้คอยปฎิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง วันละจำนวน 15 นาย ที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษคือพื้นที่โดยรอบโครงการพัฒนาดอยตุงขณะนี้การเตรียมความพร้อมทุกอย่างเรียบร้อยแล้วกำลังอยู่การเผชิญเหตุในช่วง 17 กุมภาพันธ์ถึง 17 เมษายน ของมาตรการ 60 วันห้ามเผา
ทางด้านนายภัทราวดี กล่าวว่า ทุกวันนี้ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาไฟป่าด้วยใจ เพราะไม่มีอะไรตอบแทนเลย และแนวการป้องกันและแก้ไขปัญหาทำกันเองตามสิ่งที่รู้โดยไม่มีหน่วยใดมาช่วยเหลือ อย่างพื้นที่ อ.แม่สรวย ซึ่งตนเคยเป็นนายอำเภอมาก่อนมีพื้นที่ป่าอยู่กว่า 1 ล้านไร่ ร้อยละ 90 ของพื้นที่เป็นภูเขา ก็มาจัดเป็นพื้นที่เสี่ยงเพื่อการควบคุมดูแล โดยตั้งชุดปฎิบัติการตำบลเข้ามาดูแล มีการลงพื้นทื่เสี่ยง ซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าหรือหมอกควันจริงๆต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายหมดตั้งแต่ค่าทำแนวกันไฟ ค่าน้ำมันรถ ค่าอาหารของชาวบ้านที่ร่วมปฏิบัติงาน ที่ผ่านมาทางจังหวัดมีการจัดตั้งกองทุนร่วมภาคเอกชนมาช่วยเหลือ โดยเฉพาะช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากการปฎิบัติหน้าที่ซึ่งถือว่าได้ผล จึงอยากให้มีการช่วยเหลือในเรื่องของกองทุนเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริง ทั้งการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ การช่วยเหลือด้านอาชีพเพื่อลดการเผาและการเยียวผู้ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการลงพื้นที่ครั้งเป็นงานต่อเนื่องปีที่ 2 เพื่อเก็บข้อมูลก่อนเข้าสู่ห้วง 60 วันอันตราย ซึ่งจะเป็นปัญหาให้เกิดหมอกควันและไฟป่า 10 ปีที่ผ่านมา 9 จังหวัดภาคเหนือได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งปัจจัย 99 เปอร์เซ็นต์เกิดจากการเผา ซึ่งนักวิชาการยืนยันแล้วความแห้งแล้งและความร้อนในประเทศไทย ไม่สามารถทำให้ไฟลุกขึ้นมาเองได้เหมือนต่างประเทศ ซึ่งปัญหานี้รัฐบาลมีความใส่ใจ พยายามควบคุมและส่งเสริมทุกอย่างไม่ให้เกิดหมอกควันและไฟป่า การพูดคุยครั้งนี้ถือเป็นการซักซ้อมความเข้าใจ ตั้งแต่ขั้นการป้องกัน การเผชิญเหตุและการพื้นฟูพื้นที่ ซึ่งทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่มีหน้าที่โดยตรงในการบริการ แต่มีหน้าที่ในการออกกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งจะนำข้อมูลทั้หมดไปสื่อถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ปฎิบัติงาน ซึ่งบางคนได้บาดเจ็บและหลายคนต้องเสียชีวิต ควรที่จะมีการช่วยเหลือในส่วนนี้.