ข่าวเด่น

ยกชุมชนบ้านปางห้าต้นแบบ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร มาส์กหน้าใยไหมทองคำหนึ่งเดียวในประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงรายว่า นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอแม่สาย ร่วมกัน เปิดงานท่องเที่ยวเชิงเกษตร แผ่นใยไหมชุมชนบ้านปางห้า  ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้านหม่อนไหมประจำปี 2561 ที่ชุมชนบ้านปางห้า ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

โดยได้ร่วมกับโดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ น่าน สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เขต 1 จังหวัดแพร่  กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพราะถือว่าที่ชุมชนบ้านปางห้า เป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่สามารถนำตัวหม่อนมาทอเป็นไหมให้เป็นกระดาษตามที่ต้องการ จากนั้นนำมาสู่การมาส์กหน้า และทำเครื่องสำอางจากใยไหม

โดยนางสุดารัตน์ กล่าวว่า สำหรับการเปิดงานท่องเที่ยวเชิงเกษตร แผ่นใยไหมชุมชนบ้านปางห้า เห็นว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงเกษตร ที่สามารถให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวได้ในทุกฤดู โดยเฉพาะการที่บ้านปางห้า สามารถทำในสิ่งที่ไม่เหมือนใคร โดยการนำเอาเส้นใยไหมมาเสริมความงามของนักท่องเที่ยวได้ นักท่องเที่ยวมาแล้วจะไม่ผิดหวัง เพราะใยไหม สามารถทำได้หลายอย่างไม่ใช่เฉพาะการทอผ้าเท่านั้น แต่สามารถทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้

“ซึ่งเชื่อว่าจุดนี้จะเป็นจุดขายอีกจุดของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในยุค4.0เพราะ การนำเส้นใยไหมมาทำเครื่องสำอางไม่ได้รู้จักกันเฉพาะที่ประเทศไทย แต่ต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วในขณะนี้ ดังนั้นก่อนที่จะแพร่หลายไปยังต่างประเทศ เราคนไทย ต้องเดินทางมาดู และสัมผัสก่อน ที่สำคัญยังเป็นการสร้างอาชีพให้ชาวบ้านเห็นได้อย่างชัดเจน” นางสุดารัตน์ กล่าว

ทางด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยอมรับว่า ชุมชนบ้านปางห้าถือว่าเป็นอีกหนึ่งชุมชนในอำเภอแม่สาย ที่สามารถดึงจุดเด่นออกมาขายให้นักท่องเที่ยวได้ หมู่บ้านปางห้า มีโฮมสเตย์ให้พัก และกิจกรรมดีๆ เรียนรู้การทำขนมพื้นบ้าน ทำผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา นั่งรถอีต๊อกไปฐานกิจกรรมทำเทียน ที่บ้านเทียน สัมผัสธรรมชาติดูวิถีชีวิตชาวบ้านด้านการเกษตร ที่ สวนฝรั่งกิมจู มีลักษณะเป็นการเข้าฐานต่างๆในชุมชน ซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งวัน

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ประการสำคัญต้องยกให้ จินนาลักษณ์กระดาษสา ที่สามารถต่อยอดจากกระดาษสาสู่ใยไหมทองคำได้ เพราะเป็นที่ทราบกันว่า จินนาลักษณ์ทำกระดาษสา มานานกว่า 22 ปี และจะผลิตกระดาษสา ที่มีลวดลายสวยงามมากขึ้นเพราะต้องให้ทันสมัยกับผู้ใช้ และอีกหนึ่งสิ่งที่ทางกระดาษสาจินนาลักษณ์ทำขึ้นมา นั้นคือใยไหมทองคำ จากที่อยากทำกระดาษสาจากใยไหม มาสู่ ใยไหมทองคำ

ทั้งนี้ นางสาวจินนาลักษณ์ ชุ่มมงคล เจ้าของกระดาษสาจินนาลักษณ์ ได้นำคณะเยี่ยมชมกระบวนการทำกระดาษสาจากตัวไหม ซึ่งเป็นการนำตัวไหมมาทอเป็นกระดาษ โดยตัวไหมจะทักทอใยไหมในแนวราบให้เป็นผืน ซึ่งเป็นกระบวนการ หรือวงรอบชีวิตของตัวไหม ที่เมื่อกินใบม่อนมา แล้วจะปล่อยใยไหมออกมา ซึ่งทางกระดาษสาจินนาลักษณ์ ได้ศึกษาตัวไหมมาอย่างดี จนสามารถนำมาทอเป็นกระดาษาสาได้ และปัจจุบันได้มีการจดสิทธิบัตรในเรื่องการทอจากตัวไหม และการใช้อุปกรณ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยตัวไหมที่นำมาทำกระดาษขึ้นเป็นผืนก็จะทำให้กระดาษนั้นมีสีทองที่แปลก

เมื่อเป็นแผ่นกระดาษจากใยไหมแล้ว ก็นำมาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ ที่ชื่อ CEILK ซึ่งเป็นเครื่องสำอาง เพื่อมาร์คหน้า เพราะใยไหมมีคุณสมบัติบำรุงผิวหน้า ที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง สดใสดูอ่อนกว่าวัย ปัจจุบัน

ที่ผ่านมากระดาษสาจินนาลักษณ์ ได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรม เมือปี2556 ก็ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งใยไหมที่ไม่ผ่านกระบวนการใด จะมีคุณค่าต่อผิวมนุษย์นั้นคือน้ำลายจากตัวไหม เมื่อนำปรับสภาพผิวแล้วจะดีขึ้นอย่างมาก โดยผลิตภัณฑ์นั้นยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่ทำมาจากชาวบ้านโดยตรง และมาจาก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และสามารถพูดได้ว่า เป็นเพียงแห่งเดียวในโลกที่ทำแบบนี้.