ข่าวเด่น

ชาวเชียงแสนต้านหนักเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ชาวเชียงแสนต้านหนักเขตเศรษฐกิจพิเศษขอแก้ผังเมืองก่อนหนักสุด 2 ตำบลสีเขียวล้วน

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอประชุมที่ว่าการ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานโยธาธิการและผังมือง จ.เชียงราย จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเรื่องการจัดทำผังเมืองรวมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.เชียงราย ซึ่งทางรัฐบาลกำหนดจัดตั้งพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ โดยได้มีการจัดทำร่างผังเมืองรวมดังกล่าวไปให้ประชาชนได้ดูเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นโดยมีนายพินิจ แก้วจิตคงทอง นายอำเภอเชียงแสน และชาว อ.เชียงแสน เข้าร่วมรับฟังข้อมูลและแสดงความคิดเห็นอย่างคับคั่งมากกว่าทุกครั้ง

โดยเวทีดังกล่าวเริ่มต้นด้วยการที่นางศิริพร อัคนิวรรณ ผู้จัดการโครงการ และนักผังเมืองอีกหลายคนให้ข้อมูลกับประชาชนประกอบแผนที่เกี่ยวกับพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอชายแดนดังกล่าวโดยเป็นแผนผังเกี่ยวกับการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นสีต่างๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ เช่น สีเหลืองเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย สีเขียวเป็นที่ชนบทและเกษตรกรรม สีเขียวอ่อนเป็นที่อนุรักษ์ป่าไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแผนผังแสดงที่โล่ง แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค เป็นต้น อย่างไรก็ตามภายหลังให้ข้อมูลแล้วพบว่าประชาชนจำนวนมาก นำโดย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งภาคเอกชนต่างแสดงความเห็นไปในทางคัดค้านผังเมืองรวมดังกล่าวกันโดยถ้วนหน้า

โดยนายสมควร สุตะวงค์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านแซว อ.เชียงแสน กล่าวว่า จากการดูแผนผังที่เจ้าหน้าที่นำมาให้พบว่าพื้นที่พัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษส่วนใหญ่อยู่นอกเขต ต.บ้านแซว และ ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน ทั้งหมดพวกเราจึงไม่เห็นด้วยเพราะทั้ง 2 ตำบลกลับไม่มีอยู่ในเขตพัฒนาเลยจึงขอให้เจ้าหน้าที่นำกลับไปจัดทำผังใหม่ด้วย

ด้านนายสง่า สิทธิแท้ กำนัน ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน กล่าวว่า ต.แม่เงิน มีโฉนดกว่า 1,566 แปลง เนื้อที่กว่า 3,962 ไร่ ส่วน ต.บ้านแซว ก็มีที่ดินกว่า 3,000 แปลง เนื้อที่ร่วม 7,000 ไร่ ซึ่งพบว่าตามผังเมืองรวมนี้ล้วนทำให้มีแค่สีเขียวกรอบแดงซึ่งหมายถึงที่ดินประเภทปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและสีเขียวอ่อนเส้นตัดสีขาวซึ่งหมายถึงที่ดินอนุรักษ์ป่าไม้ ทั้งๆ ที่มีเฉดสีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น สีแดงซึ่งหมายถึงที่ดินเชิงพาณิชย์ เป็นต้น ส่วนโฉนดที่ดินที่มีกว่า 10,000 ไร่ของ ต.บ้านแซว และ ต.แม่เงิน กลับหายไปจากผังเมืองรวมดังกล่าวหมด

นายสง่า กล่าวอีกว่า ดังนั้นจึงเกรงว่าประชาชนทั้ง 2 ตำบลจะเรียกร้องสิทธิที่ดินเหมือนกรณีปี 2524 ที่รัฐบาลแจ้งว่าได้ประกาศพื้นที่ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้วจึงแก้ไขไม่ได้ ต่อมาปี 2528 ก็ประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือ สปก.4-01 บางจุดก็ทับพื้นที่หนังสือสำคัญของหลวง (น.ส.ล.) พื้นที่ สค.1 และ นส.3 ก.เป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นทุนและโอกาสในการประกอบอาชีพที่หลากหลายได้ จึงเห็นว่าผังเมืองรวมดังกล่าวทำให้เกิดความเสมอภาคในสิทธิของประชาชนจึงขอคัดค้านและแก้ไขด้วย

นายศุภสัณห์ วิริยะ นายก อบต.ป่าสัก กล่าวว่าผังเมืองรวมกำหนดให้สร้างสิ่งปลูกสร้างห่างจากถนนกว่า 12 เมตร ซึ่งตลอดแนวดังกล่าวพบว่ามีถนนตัดผ่านยาวร่วม 5 กิโลเมตร หากว่าใช้ตามมาตรการนี้อาจทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหนักเพราะระยะกว้าง 12 เมตรดังกล่าวถือว่ามีเนื้อหากว้างจึงขอให้พิจารณาแก้ไขด้วย

ทางด้านนางเกศสุดา สังขกร ประธานหอการค้า อ.เชียงแสน กล่าวว่าพื้นที่บริเวณเขตเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสนบริเวณด้านนอกกำแพงเมืองพบว่ายังถูกกำหนดในหลายเรื่องทั้งด้านการสร้างสำนักงาน ลานตู้คอนเทนเนอร์ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าจำเป็นหากต้องมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจึงขอให้มีการปรับให้เหมาะสมด้วย

รายงานข่าวแจ้งอีกว่านอกจากนี้ยังมีประชาชนและบุคคลสำคัญในพื้นที่จำนวนมากที่ได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านไปในทำนองเดียวกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับไว้เป็นข้อมูลและรับจะนำไปพิจารณาปรับปรุงต่อไป กระนั้นทางเจ้าหน้าที่จะยังคงดำเนินการจัดเวทีต่อ ณ ที่ว่าการ อ.แม่สาย ในวันที่ 24 เม.ย.และวันที่ 25 เม.ย.ที่ว่าการ อ.เชียงของ ต่อไป.