ข่าวเด่น

เชียงรายหนุนผู้ประกอบการสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO

วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 นายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 8 ( อพท.8 ) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เป็นประธานเปิดกิจกรรมความร่วมมือเพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างสร้างสรรค์ในด้านสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงราย ด้านการออกแบบ เตรียมความพร้อมสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ระดับโลกของยูเนสโก ณ ลานวัฒนธรรม ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงราย โดยจัดกิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2566 โดยมี องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมในกิจกรรม

นายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 8 กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า การจัดกิจกรรมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่นตามบริบทการเป็นเมืองสร้างสรรค์สำหรับสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงรายด้านการออกแบบ ตามบริบทการทำงานของยูเนสโก ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญตามหลักการขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ดำเนินนโยบาย “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์” (The Creative Cities Network) ตั้งแต่ปี 2547 โดยให้นิยาม Creative City ว่าเป็นการร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่นและภาครัฐ ในการสร้างสรรค์เมืองผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีของท้องถิ่น มาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ (Creative Industries) ทาง อพท.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเมืองที่มีศักยภาพให้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO โดยทาง อพท.เป็นหน่วยร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนเมืองสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จแล้ว 2 เมือง ได้แก่ เมืองสุโขทัย ในปี 2562 และเมืองเพชรบุรี ในปี 2564 และขอแสดงความยินดีกับจังหวัดเชียงรายเป็นอย่างยิ่ง ที่ปี 2566 นี้ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนในระดับประเทศและส่งไปยัง UNESCO เพื่อเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในระดับนานาชาติ อันจะประกาศผลในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

สำหรับจังหวัดเชียงราย ถือเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย สวยงามทั้งทางธรรมชาติ อัตลักษณ์อันโดดเด่นทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชนที่ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ ประกอบกับเป็นเมืองก่อเกิดศิลปินหลากหลายสาขาจำนวนมาก ทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ที่บ่งบอกถึงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและร่วมสมัยให้ทรงคุณค่าและสร้างมูลค่าได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ในปี 2566 จังหวัดเชียงรายได้รับเกียรติให้เป็นสถานที่จัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ภายใต้ชื่อ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ซึ่งถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่สะท้อนความโดดเด่นทางศิลปะของเมืองเชียงราย เป็นองค์ประกอบที่สามารถนำไปต่อยอดสู่เมืองสร้างสรรค์ในอนาคต รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างและยกระดับความสามารถด้านการท่องเที่ยวแก่จังหวัดเชียงรายอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ คณะผู้จัดงานจึงกำหนดหัวข้อกิจกรรม ภายใต้แนวคิด “เปิดโลก” หรือ “The Open World” ของการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติดังกล่าว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนเมืองเชียงรายสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ด้านการออกแบบ โดยใช้ชื่อว่าThe Open World of Creative Cities towards Sustainability สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรมีการขับเคลื่อนต่อยอด คือการสร้างระบบนิเวศเชิงสร้างสรรค์ (Creative Ecosystem) เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยมีพื้นฐานมาจากสินทรัพย์งานสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบไปด้วยสามองค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1) คน: ปัญญาสร้างสรรค์ 2) สถานที่: พื้นที่สร้างสรรค์ และ 3) เศรษฐกิจ: อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งสามองค์ประกอบนี้จะเป็นฐานสำคัญในการนำเชียงรายไปสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ซึ่งมีเกณฑ์สำหรับเมืองด้านการออกแบบ หรือ City of Designได้แก่

  1. การมีอุตสาหกรรมการออกแบบที่เป็นที่ยอมรับ
  2. กลุ่มปฏิบัติของนักสร้างสรรค์และนักออกแบบที่ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
  3. ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่ได้รับการดูแลโดยการออกแบบและสภาพแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้น อาทิ สถาปัตยกรรม การวางผังเมือง พื้นที่สาธารณะ อนุสรณ์สถาน การขนส่ง การคมนาคม ป้ายและการแสดงข้อมูล รูปแบบอักษรฯลฯ
  4. สถาบันการศึกษา โรงเรียนออกแบบและศูนย์วิจัยการออกแบบ
  5. ประสบการณ์ในการจัดงานแสดงสินค้างาน ออกร้าน กิจกรรมอื่นๆ และนิทรรศการที่ทุ่มเทให้กับการออกแบบ หรือเกี่ยวข้องกับการออกแบบโดยเฉพาะ
  6. โอกาสสำหรับนักออกแบบในท้องถิ่นและนักวางผังเมืองในการใช้ประโยชน์จากวัสดุในท้องถิ่นและสภาพเมือง สภาพธรรมชาติ
  7. อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนด้วยการออกแบบ เช่น สถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในแฟชั่นและสิ่งทอเครื่องประดับและเครื่องประดับ การออกแบบ ปฏิสัมพันธ์การออกแบบเมือง และการออกแบบที่ยั่งยืน

ดังนั้น การจัดกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่นตามบริบทการเป็นเมืองสร้างสรรค์สำหรับ สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงรายด้านการออกแบบครั้งนี้ จึงเป็นการบูรณาการให้เกิด Creative Space หรือพื้นที่สร้างสรรค์ โดยนำบ้านศิลปินและนักออกแบบหลากหลายแขนง อาทิ งานจิตรกรรม งานประติมากรรม งานออกแบบเสื้อผ้า แฟชั่น งานสักลายหรือ Tattoo งานศิลปหัตถกรรมต่างๆ มาร่วมขับเคลื่อนเตรียมพร้อมสู่การเป็น UNESCO Creative Cities Network เช่น การเปิดบ้านให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้งานออกแบบ งานศิลปะให้แก่ชุมชนท้องถิ่น

จากบ้านหนึ่งหลัง ก็จะเป็นชุมชนหรือหมู่บ้านสร้างสรรค์ อันจะกระจายไปสู่การขับเคลื่อนบ้านศิลปินที่มีอยู่ในจังหวัดเชียงรายร่วมสี่ร้อยกว่าหลังทั่วทุกอำเภอ ที่จะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้แก่ชุมชน แก่ผู้มาเยือนที่สนใจ และเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับผู้มาเยือนเชียงราย โดยเฉพาะผู้คนจากทั่วโลกที่มางานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ภายใต้ชื่อ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ซึ่งถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่สะท้อนความโดดเด่นทางศิลปะของเมืองเชียงราย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนเมืองเชียงรายสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ด้านการออกแบบต่อไป