มหาดไทยสอบเข้มสร้างช้างบนเกาะแม่น้ำกก เทศบาลแจงธนารักษ์ให้ใช้ตั้งแต่ปี 48 ผู้ว่าฯ เห็นชอบเอง
เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงรายว่า ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ทางกระทรวงมหาดไทยนำโดยนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้นำคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเทศบาลนครเชียงรายมีโครงการสร้างช้างคู่บารมีพญามังราย บนเกาะกลางแม่น้ำกกใกล้สะพานแม่ฟ้าหลวงในเขต อ.เมืองเชียงราย และที่ผ่านมาทางจังหวัด โดยนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ไม่อนุมัติโครงการเพราะเห็นว่ามีปัญหาเรื่องที่ดิน โดยคณะกรรมการได้เรียกสอบปากคำบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย เช่น ธนารักษ์จังหวัด ที่ดินจังหวัด เจ้าท่าภูมิภาค ยุทธศาสตร์จังหวัด สำนักงานจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด เทศบาลนครเชียงราย ฯลฯ โดยมีการตั้งห้องสอบปากคำกับที่ห้องประชุมท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย จ.เชียงราย ซึ่งรายละเอียดยังไม่มีการเปิดเผยแต่อย่างใด
ทางด้านนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย เปิดเผยว่า สำหรับที่มาของโครงการนี้นั้นเกิดจากการที่ชาวเชียงรายทราบถึงจุดกำเนิดของเมืองเชียงรายกันดีว่าเกิดจากการที่พญามังรายหรือพ่อขุนเม็งรายมหาราช ได้ทรงตามช้างมาจนพบภูมิประเทศเมืองเชียงรายแล้วสร้างเมืองขึ้นจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเทศบาลนครเชียงรายจึงร่วมกับศิลปินจำนวนหนึ่งและปรึกษาพระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค 6 ที่ให้ข้อคิดและอาจารย์กนก วิศวกุล ศิลปินชาวเชียงราย ที่ให้ลักษณะช้างมงคลกระทั่งมีความตั้งใจที่จะสร้างอนุสาวรีย์ช้างดังกล่าวขึ้นมา และเมื่อปี 2560 เทศบาลจึงได้นำเสนอโครงการเข้าสู่ที่ประชุมจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธาน รวมทั้งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการและผู้ทรงคุณวุฒิ กว่า 100 คน โดยของบประมาณดำเนินการจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ปรากฎว่าที่ประชุมเห็นชอบอนุมัติโดยมีเสียงเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการบริเวณสวนของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนหรือสวน รด.หรือ ต่อเนื่องไปยังเกาะกลางแม่น้ำกกดังกล่าว โดยจะมีการสร้างเป็นสวนสาธารณะที่มีต้นไม้ร่มรื่น ไม้มงคล ไม้หายาก สวนจักรยาน เพื่อให้เชียงรายเป็นอัตลักษณ์และในช่วงเวลา 3-5 ปีข้างหน้าก็จะเป็นเมืองชั้นนำเรื่องจักรยานด้วย
นายวันชัย ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องที่ดินตรงเกาะกลางแม่น้ำกกนั้นเกิดจากการเป็นที่งอกเงยขึ้นมาอันเกิดจากแม่น้ำเปลี่ยนทางเดิน โดยมีเนื้อที่ประมาณ 24-25 ไร่ ทำให้ทางกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้ออกเอกสารสิทธิมาได้กว่า 20 ปีแล้วและได้มีการส่งมอบเทศบาลเชียงรายเข้าไปพัฒนาในปี 2548 ซึ่งที่ผ่านมาเทศบาลก็ได้ใช้ทำประโยชน์ เช่น ร่วมกับฝ่ายทหารปลูกต้นไม้ ฯลฯ รวมทั้งเคยตั้งใจสร้างหอศิลป์ร่วมสมัยโดยรวบรวมผลงานศิลปะของศิลปินที่มีอยู่ในเชียงรายมากที่สุดกว่า 300-400 คนด้วย การเสนอโครงการขึ้นมาจึงสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งให้ประชาชนอยู่ดีกินดีและยุทธศาสตร์ จ.เชียงราย กระทั่งต่อมาทางกรมโยธาธิการและผังเมืองก็ได้ช่วยออกแบบพัฒนาเกาะด้วยงบประมาณ 65 ล้านบาท โดยมีการออกแบบเป็นสะพาน พัฒนาบนเกาะและอื่นๆ มากมายโดยช้างเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ได้รับการอนุเคราะห์จากผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการจังหวัดที่เสนอไปยังรัฐบาลจนกระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อนุมัติงบประมาณเพื่อก่อสร้างในที่สุด
นายวันชัย กล่าวด้วยว่า เทศบาลเป็นผู้นำเสนอโครงการเพื่อให้เกิดสิ่งดีๆ ต่อ จ.เชียงราย โดยการประมูลจัดซื้อต่างๆ เป็นเรื่องของ จ.เชียงราย ที่จะมอบให้ส่วนภูมิภาคใดดำเนินการโดยเทศบาลไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด จึงถือเป็นโครงการที่ดีที่เกิดจากการบูรณาการทุกฝ่ายและประชาชนมีส่วนร่วม ส่วนกระแสทุจริตเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้ที่เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย เพราะโครงการยังไม่ได้เกิดขึ้นเลย เทศบาลไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างเพียงแต่เสนอให้สอดคล้องกับยุทธศาสร์ชาติและจังหวัด รวมทั้งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น ที่ดินบนเกาะเป็นของกรมธนารักษ์ซึ่งหากจะมีการพิสูจน์สถานะกันอีกครั้งก็ขึ้นอยู่กับจังหวัดที่จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้หนึ่งผู้ใดจะมาชี้ขาดว่าถูกหรือผิดกฎหมายก็ถือว่าเร็วเกินไป และสิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อแนวความคิดการพัฒนาในอนาคตหากว่ามีการตั้งเงื่อนไขเอาไว้ไม่สมบูรณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง บางครั้งอาจเป็นจินตนาการ ซึ่งในอนาคตก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ หากมองในแง่ของข้อกฎหมายก็คงต้องรอการพิสูจน์และตนคิดว่าเรื่องนี้รัฐบาลมีแนวทางแก้ไขได้ โดยหากสมมุติมีการยกเลิกการเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์แล้วให้ไปเป็นที่สาธารณะประโยชน์เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันประชาชนก็สามารถมอบให้เทศบาลสร้างประโยชน์ได้อยู่ดี ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นที่ดินของหน่วยงานใดก็สามารถใช้ประโยชน์
“กรณีถูกกล่าวถึงเรื่องโครงการสร้างโรงคัดแยกขยะที่กำลังถูกตรวจสอบว่าเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากผู้บริหารท้องถิ่นชุดก่อนซึ่งตนไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย แต่ในปัจจุบันได้ให้มหาวิทยาลัยช่วยเข้าไปศึกษารูปแบบการคัดแยกขยะที่มีประสิทธิภาพ ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีอาจจะล้าสมัยหรือทำให้ต้นทุนสูง การบริหารต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมมีมากจนเป็นภาระต่อท้องถิ่น ดังนั้นหากทำให้ให้ดีและคุ้มค่าโดยหาจุดลงตัวก็จะทำให้มีประสิทธิภาพแต่หากดันทุลังทำก็จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีได้” นายวันชัย กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับกรณีสร้างช้างคู่บารมีพญามังรายดังกล่าวกลายเป็นประเด็นปัญหาขึ้นเมื่อทางผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ยืนยันว่าจะไม่ลงนามอนุมัติโครงการมูลค่า 32 ล้านบาท เพราะยังมีปัญหาเรื่องที่ดิน โดยปัจจุบันเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงรายกำลังแจ้งความดำเนินคดีกับหน่วยงานที่รุกล้ำน่านน้ำอยู่ รวมทั้งยังอ้างอิงไปถึงโครงการอื่นๆ ที่กำลังถูกตรวจสอบ เช่น โรงคัดแยกขยะดังกล่าว ฯลฯ ทำให้เทศบาลเคยจัดประชาพิจารณ์ประชาชนของให้ย้ายการสร้างอนุสาวรีย์ช้างคู่บารมีพญามังรายไปอยู่ที่ศาลากลาง จ.เชียงราย หลังเก่าใจกลางเมืองเชียงรายโดยมีประชาชนเข้าร่วมเห็นชอบจำนวนมาก จนทำให้มีประชาชนทั้งที่สนับสนุนเทศบาลนครเชียงราย กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับเทศบาล ประชาชนทั่วไป พากันไปร้องต่อผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ให้แก้ไขปัญหาโดยมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการกระทั่งเกิดกรณีตรวจสอบโดยกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว.