ข่าวเด่น

โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ให้บริการทุกคน

ยึดถือแนวคิดที่ว่า “จะไม่มีผู้ป่วยคนใดที่ถูกปฏิเสธการรักษาเพราะความยากจน”

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ศุภกร โรจนนินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มฟล.และคณะบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล.นายแพทย์สมปราถน์ หมั่นจิต อาจารย์แพทย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. แถลงความคืบหน้าในการให้บริการของโรงพยาบาลหลังจากเปิดมาได้นาน 2 ปีว่านับตั้งแต่เปิดให้บริการมีประชาชนไปใช้บริการจำนวน 68,459 ครั้ง จำนวน 22,853 คน และปี 2563 จำนวน 92,443 ครั้ง มีคนไปใช้บริการจำนวน 32,687 คน ปัจจุบันมีการเปิดบริการแผนกผู้ป่วยนอก ที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยซึ่งรัฐบาลได้จัดหาให้ เช่น เครื่องตรวจอวัยวะด้วยสนามแม่เหล็กความเข้มสูงหรือเอ็มอาร์ไอ อับตร้าซาวด์ ฯลฯ มีแผนกอุบัตเหตุ-ฉุกเฉิน แผนกกายภาพบำบัด คลินิกแพทย์บูรณาการทั้งแผนจีนและไทยประยุกต์ คลินิคสูตินรีเวชกรรม ศูนย์โรคหัวใจ ต่อไร้ท่อ ไต กระดูกและข้อ คลินิคเลือด ฯลฯ

รศ.ดร.ชยาพร กล่าวว่า โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่รักษาผู้ป่วยเท่านั้นแต่ยังเป็นสถานที่เรียนของนักเรียนแพทย์ที่จะเป็นบุคลากรสำคัญในอนาคต รวมทั้งยังมีงานทางวิชาการและวิจัยซึ่งสามารถนำมาใช้ได้โดยเฉพาะพื้นที่ จ.เชียงราย เป็นเมืองชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและหลายครั้งได้พบโรคที่เคยสูญหายไปจากประเทศไทยแล้วกลับเข้ามาพร้อมชาวต่างด้าว และบางครั้งพบมีอาการที่แปลกไปจากที่เคยรับรู้กันก็จะนำมาวิจัยเพื่อรักษาอันจะเป็นการป้องกันโรคไม่ให้ติดต่อสู่คนไทยได้อีกด้วย ดังนั้นเราจึงเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยจะใช้เวลาอีก 2-3 ปีในการทำให้มีการบริการสมบูรณ์ต่อไป กระนั้นปัญหาที่พบในปัจจุบันคือประชาชนยังไม่รู้ว่าสามารถไปใช้บริการได้หรือไม่ และด้วยสภาพที่โอ่อ่างของอาคารใหม่ที่เป็นตึกสูงรวมทั้งความเป็นมหาวิทยาลัยทำให้ประชาชนทั่วไปไม่กล้าเข้าไปใช้บริการ ตนจึงขอแจ้งว่าเราเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่ให้บริการต่อประชาชนทุกคนโดยเฉพาะเพื่อแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ที่มีผู้คนไปใช้บริการเป็นจำนวนมากด้วย

ทางด้าน ศ.เกียรติคุณนายแพทย์ศุภกร กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเรียนแพทย์ในภาคเหนือจะต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นหลัก แต่ปัจจุบันสามารถเรียนที่ มฟล.ได้แล้วโดยเราตั้งเป้ารับนักศึกษาปีละ 100 คน ปัจจุบันมีผู้เข้าเรียนแล้ว 40 คน หลังจากพบปัญหาที่ผ่านมาคือเปิดทำการสอนได้แต่ไม่สามารถเปิดชั้นคลินิคได้ กระทั่งเมื่อเรามีโรงพยาบาลศูนย์การแพย์ที่ได้มาตรฐานจากองค์กรสากลจากประเทศสหรัฐอเมริกาหรือจีซีไอ มีเตียงรักษา 400 เตียง เมื่อมีการรักษาและเปิดชั้นคลินิคต่างๆ ทำให้ในอีก 4 ปีข้างหน้าสามารถใช้สอนการแพทย์ได้ทุกชั้นปีแน่นอน และเมื่อมีผู้ป่วยไปรักษาถึงระดับวันละ 250 คนก็จะมีการเพิ่่มเตียงขึ้นไปเป็น 800 เตียงต่อไป

“ปัจจุบันเรามีแพทย์และพยาบาลจำนวน 80 คน กำลังส่งไปเรียนอยู่จำนวน 40-50 คน ถ้ากลับมาก็จะทำให้มีความสมบูรณ์แบบขึ้น เรายังมีธนาคารเลือดซึ่งต่อไปจะขอให้เป็นสาขาของสภากาชาดไทยซึ่งจะสามารถสนับสนุนโรงพยาบาลได้ทั่ว จ.เชียงราย และลุ่มแม่น้ำโขงด้วย และปี 2564-2565 ก็คาดว่าจะมีผู้ไปใช้บริการวันละ 900 คนได้ต่อไป” ศ.เกียรติคุณนายแพทย์ศุกร กล่าวและว่าสำหรับการให้บริการนั้นมีสิทธิรักษาพยาบาลกรณีเป็นข้าราชการสามารถเบิกจ่ายตรง ส่วนบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่ระหว่างดำเนินการ และกรณีบัตรทองของประชาชนทั่วไปอยู่ระหว่างดำเนินการย้ายประชากรใน ต.นางแล ต.แม่ข้าวต้ม และ ต.ท่าสุด จำนวน 22,395 คน จากประชากรทั้งหมด 28,258 คน จากเดิมที่ขึ้นตรงกับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ให้เป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มฟล.ต่อไปทำให้เรามีกิจกรรมลงพื้นที่พบปะชุมชนอย่างต่อเนื่อง

โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ดำเนินโครงการ “แพทย์อาสาบรมราชกุมารี” ในการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนในจังหวัดเชียงรายและภาคเหนือตอนบน โดยเน้นการส่งเสริมและป้องกันเป็นหลักและส่งเสริมให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาสได้เข้าถึงการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยไม่จำกัด จากทีมสหสาขาวิชาชีพ
โครงการ “แพทย์อาสาบรมราชกุมารี” ได้เริ่มออกพื้นที่ให้การรักษาในเดือนธันวาคม 2561

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการวิชาการและบริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดารพื้นที่จังหวัดเชียงรายและภาคเหนือตอนบน ดำเนินการแล้ว 5 กิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 990 คน ได้แก่ บ้านลิไข่ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย บ้านเวียงคำฟ้า ต.ดงมหาวัน อ.เวียงเชียงรุ้ง จ. เชียงราย โรงเรียนดอยแสนใจ (โรงเรียน ตชด.อนุสรณ์) ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย รพ.สต.บ้านดงมหาวัน ต.ดงมหาวัน อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย และโรงเรียนไร่ส้มวิทยา ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
โครงการ “แพทย์อาสาบรมราชกุมารี” โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จะให้การรักษาพยาบาลและดูแลประชาชน ยึดถือแนวคิดที่ว่า “จะไม่มีผู้ป่วยคนใดที่ถูกปฏิเสธการรักษาเพราะความยากจน”