ข่าวเด่น

ผุด 30 โรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่นแก้วิกฤติปัญหาหมอกควันภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 โรงแรมเฮอริเทจ เชียงราย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดโครงการสร้างโรงเรียนต้นแบบในโรงเรียนในการรับมือกับฝุ่นในพื้นที่วิกฤตหรือห้องเรียนสู้ฝุ่น โดยมีผู้อำนวยการและตัวแทนครู ตลอดจนตัวแทนนักเรียนของโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา จากโรงเรียนในพื้นที่จังหวัด เชียงราย แพร่ และแม่ฮ่องสอน ประมาณ 70 คน เข้าร่วมรับการฝึกอบรม

นอกจากนี้ภายในงานยังจัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างจังหวัดเชียงราย สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ สสส.ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันด้วย

โดย ดร.นิออน สิริมงคลเลิศกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย ในฐานะประธานโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันถือเป็นภัยที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่สูงห่างไกลทุรกันดาน ผู้ที่กระทบหนักคือกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก ที่เป็นกลุ่มนักเรียนตามสถาบันการศึกษาๆ ดังนั้นทางเครือข่ายจึงร่วมกันจัดโครงการนี้ขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คัดเลือกโรงเรียนที่ประสบภัยและอยู่ในพื้นที่จำนวน 30 โรงเรียนมาเป็นโรงเรียนต้นแบบเพื่อนำร่องก่อน

ดร.นิออน กล่าวด้วยว่า ห้องเรียนสู้ฝุ่นไม่ได้หมายถึงห้องเรียนที่ปลอดจากฝุ่นแต่เป็นกระบวนการจัดองค์ความรู้เกี่ยวพิษภัย การบริหารจัดการและเครื่องไม้เครื่องมือเกี่ยวกับการจัดการปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น ถ่ายทอดให้กับคณะครูและนักเรียนที่ได้รับเลือกไปจัดกระนวนการสอนและการเรียนถึง 10 แผน เพื่อที่จะนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดให้กับเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง ให้เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาและสามารถเอาตัวรอดจากปัญหาฝุ่นละอองทั้งช่วงประสบเหตุหรือช่วงที่มีการป้องกันหรือฟื้นฟู ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะมีการขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ อาจเป็นพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน หรือทั้งภาคเหนือ 17 จังหวัดในอนาคต

ทางด้านนายประจญ กล่าวว่า เชื่อว่าห้องเรียนสู้ฝุ่นจะสามารถขับเคลื่อนกลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องของฝุ่นละอองหมอกควันอย่างได้ผล เสริมเพิ่มเติมจากทางจังหวัดที่มีมาตรการอย่างเข้มข้น หากระดับพื้นที่มีความรู้มีความเข้าใจถึงผลกระทบและบ่อเกิดของปัญหาฝุ่นละอองก็จะเบาบางหรือหมดไปได้ ซึ่งปีนี้ จ.เชียงราย ก็ยังจะมีการดำเนินการอย่างเข้มข้น ทั้งเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายซึ่งได้อยู่อยู่แล้ว แต่หากไม่จำเป็นก็ไม่อยากดำเนินการ จึงเน้นในเรื่องการรณรงค์และขอความร่วมมือจากประชาชนมากกว่าให้ช่วยกันตระหนัก โดยจะเริ่มตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง มีการขอความร่วมมืองดเผาทุกชนิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งปี 2563 ที่ผ่านมาถือว่าได้ผล การเกิดไฟป่าลดน้อยลงไปมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งต้นเหตุการเผาก็ยังมาจากฝีมือมนุษย์เผาเพียงคนเดียวแต่ต้องนำคนไปดับเป็นหลายร้อยคน มีการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สินและงบประมาณ ดังนั้นปีนี้จึงอยากขอความร่วมมือทุกฝ่ายร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่ก่อน ส่วนประเทศเพื่อนบ้านจะต้องเร่งเจรจาเพื่อให้เกิดการดำเนินการร่วมกันต่อไป

ทั้งนี้มีรายงานว่าPM 2.5 สามารถสะสมในถุงลมฝอยของปอดและสามารถแทรกซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายไปทั่วร่างกาย ได้กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 5 ของประชากรโลกในปี 2558 (Cohen, 2017)นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าในปี 2559 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ 7 ล้านคน โดยเกิดจากมลพิษจากอากาศภายนอกอาคาร (Armbient Air) 4.2 ล้านคน โดยร้อยละ 91 เกิดในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก) WHO, 2018

สำหรับในประเทศไทยพบรายงานล่าสุดถึงจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน ผ่านกลุ่มระบาดวิทยา กลุ่มควบคุมโรคในเขตเมืองโดยทางเชียงใหม่ กรมควบคุมโรค ได้รายงานผ่านเว็บไซต์ว่าจากการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพจากภาวะหมอกควันในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 ในระหว่างวันที่ ‪10 – 16‬ ก.พ. 2562 พบว่า 8 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน และลำพูน มีข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพใน 4 กลุ่มโรค จำนวนทั้งสิ้น 26,614 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 707.28 ต่อประชากรแสนคน โดยกลุ่มโรคที่มีรายงานสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด รองลงมา ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ โดยมีอัตราป่วย 360.18, 295.25,27.35 และ 24.50 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ โดยกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ได้แก่ เด็ก และ ผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ผลกระทบของไฟป่าหมอกควันได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา พบว่า โดยเฉลี่ยประมาณ 100,000 รายต่อวัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือ กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้ป่วยที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จากรายงานกรมควบคุมโรคที่ 10 พบว่า วนที่ 15 มีนาคม 2550 จนถึง วันที่ 22 มีนาคม 2550 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการในสถานพยาบาลในสังกัด 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน และกาญจนบุรี ทั้งหมด 57,765 ราย เฉลี่ยวันละ 7,220 ราย กว่าร้อยละ 90 เป็นโรคทางเดินหายใจทั่วๆ ไป อาการไม่รุนแรง โดยมีผู้ป่วยมากที่สุดที่จังหวัดเชียงราย 18,412 ราย รองลงมาคือ ลำพูน 13,936 ราย และเชียงใหม่ 3,399 ราย

ในปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง เป็นวาระแห่งชาติและมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศ และในพื้นที่วิกฤตโดยการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันในทุกภาคส่วน (กรมควบคุมมลพิษ, 2562) ดังนั้นเพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงอย่างกลุ่มเด็กที่อาศัยในพื้นที่มีการพบการเผาเป็นปริมาณมาก ซึ่งร่างกายต้องรับกับปริมาณฝุ่นละอองพิษอันเกิดจากการเผาในที่โล่งเป็นประจำ ก่อให้เกิดการสะสมของสารพิษในร่างกายอันส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ จึงเป็นที่มาของ

“โครงการสร้างการเรียนรู้และการสื่อสารสู้ภัยฝุ่น เพื่อการปกป้องด้านสุขภาพในโรงเรียนต่อภาวะวิกฤตปัญหาฝุ่นละออง” ใน 3 พื้นที่ต้นแบบ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย แพร่ และ จังหวัดแม่ฮ่องสอน.