สสว. โหมติวโค้ชเอสเอ็มอีสู้โควิด-19
เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2563 ที่ห้องประชุมโรงแรมแสนโฮเทล อ.เมือง จ.เชียงราย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) นำโดยนางสุทธิกานต์ มาสำราญ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและประสานเครือข่าย สสว.เป็นประธานในการเปิดโครงการ “Train the coach” เพื่อพัฒนาระบบธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ยุค 4.0 โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นผู้ฝึกสอนหรือโค้ชของเอสเอ็มอี ที่และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมครบครัน และผู้เป็นโค้ชส่วนใหญ่จะมาจากสถานการศึกษาต่างๆ และบางส่วนเป็นที่ปรึกษาอิสระ
สำหรับโครงการมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการให้คำแนะนำของโค้ชที่จะมีต่อผู้ประกอบการผ่านระบบออนไลน์ใหม่ SMEcoachingonline และช่องทางอื่นๆ เช่น ศูนย์ให้บริการที่เดียวจบหรือ OSS ของ สสว.ทั้ง 77 จังหวัด เพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไทยที่มีอยู่รวมกันมากกว่า 3 ล้านราย ได้โดยสะดวก รองรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันอีกด้วย
นางสุทธิกานต์ กล่าวว่า โครงการได้ดำเนินการย่างสู่ปีที่ 3 ซึ่งที่ผ่านมามีโค้ชที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 3,502 รายโดยเป็นโค้ชสายกลยุทธ์ธุรกิจจำนวน 2,676 ราย และสายเทคโนโลยีจำนวน 826 ราย กระจายอยู่ทั่วประเทศในหลายสาขาความเชี่ยวชาญซึ่งจะคอยให้คำแนะนำต่างๆ แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งนี้ที่ผ่านมาพบว่าโค้ชหรือที่ปรึกษาโครงการมีความสำคัญต่อเอสเอ็มอีอย่างมากเพราะกว่า 90% ของเอสเอ็มอีเป็นรายย่อยและประกอบการณ์ไปตามประสบการณ์ของตัวเอง เมื่อประสบปัญหาต่างๆ เช่น ต้นทุน ตลาด วัสดุดิบ ฯลฯ ก็ต้องการความชำนาญจากโค้ชซึ่งตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาปรากฎพบมีการใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้อย่างต่อเนื่องจนทำให้เอสเอ็มอีสามารถดำรงค์อยู่ได้
นางสุทธิกานต์ กล่าวอีกว่า ดังนั้นโครงการนี้จึงดำเนินการเพื่อรองรับปี 2564 ก่อนจะหมดปีงบประมาณในอีก 2 เดือนนี้ เพื่อหวังให้ผู้ที่เป็นที่ปรึกษาเดิมสามารถใช้ระบบออนไลน์ใหม่สำหรับสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชิญชวนให้มีที่ปรึกษาใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น รวมทั้งสามารถประสานกับ OSS เพื่อให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลและสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากขึ้นต่อไป ทั้งนี้ทาง สสว.จะมีการคัดกรองข้อมูลต่างๆ เพื่อเข้าสู่ฐานข้อมูลสำหรับการนำมาวิเคราะห์สถานการณ์เอสเอ็มอีเพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจไทยให้เข้มแข็งต่อไป
“เดิมโครงการส่งเสริมเอสเอ็มอีของภาครัฐจะมีที่ปรึกษาโครงการทำให้ผู้ประกอบสามารถสอบถามข้อมูลได้ แต่เมื่อแล้วเสร็จโครงการก็แยกย้ายกันไป ทำให้ผู้ประกอบการก็หันมาประกอบการณ์ตามประสบการณ์เดิมๆ ของตัวเอง ซึ่ง สสว.เห็นว่าการจะปรับตัวในธุรกิจปัจจุบันเอสเอ็มอีจำเป็นจะต้องมีที่ปรึกษาอยู่ต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ปัจจุบันจึงได้พัฒนาระบบออนไลน์เพื่อให้ที่ปรึกษาและผู้ประกอบการที่อยู่คนละพื้นที่กันสามารถเข้าถึงระบบนี้ได้ควบคู่กับการใช้ประโยชน์จาก OSS ระบบมีการจัดให้ที่ปรึกษาหรือโค้ชตรงกับคำถามหรือประเภทของเอสเอ็มอีนั้นๆ ด้วย” นางสุทธิกานต์ กล่าว
ทางด้านนายวรงค์ ยมาภัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเอสเอ็มอี สถาบันพัฒนาเอสเอ็มอี กล่าวว่า ระบบใหม่จะมีการจัดทำเป็นประเภทและช่องเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงที่ปรึกษาหรือโค้ชที่ตนเองต้องการ ขณะเดียวกันโค้ชสามารถกำหนดตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใด เมื่อทางผู้ประกอบการต้องการได้รับคำปรึกษาเรื่องต่างๆ ก็เข้าถึงระบบนั้นๆ และเข้าสอบถามข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนกันโดยทาง สสว.จะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจดูว่ามีการตอบคำถามดังกล่าวได้ตรงตามเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ด้วยต่อไป.