เทศบาลนครเชียงราย จับมือ ม.แม่โจ้ ลด pm2.5
เทศบาลนครเชียงราย จับมือ ม.แม่โจ้ ลด pm2.5 นำวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติสู่การเป็นเมืองอาหารปลอดภัย
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการเมืองอาหารปลอดภัย การนำวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติสู่การเป็นเมืองอาหารปลอดภัย” ที่ ศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพป่าดอยสะเก็น ชุมชนดอยสะเก็น เทศบาลนครเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีตัวแทนจากทุกชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงราย รวมทั้งจากมหาวิทยาลัยวัยที่สามนครเชียงราย โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครเชียงราย ทั้ง 8 แห่ง เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ
ทั้งนี้ก่อนการอบรม นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ อดีตผู้อำนวยการงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา ได้บรรยายให้กับผู้รับการอบรม ว่าการดำเนินการของทางเทศบาลนครเชียงราย ภายใต้การนำของ นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียราย ถือว่าดีอย่างมากที่ได้ดำเนินการในโครงการนี้ เพราะทางวุฒิสภา ก็ให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องของหมอกควันในภาคเหนือ ว่าแนวทางการดำเนินงานต้องเริ่มต้นที่ท้องถิ่นก่อน และขยายออกไป ซึ่งรวมทั้งเรื่องการศึกษา เมื่อการศึกษาดี การให้ความรู้ที่ดี ก็จะเป็นแนงทางพัฒนาประเทศที่ถูกต้องและคนในประเทศก็จะสามารถร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องอื่นควบคู่ไปด้วย
ขณะที่การอบรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนศิษฎ์ วงศิริอำนวย หัวหน้าโครงการส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ด้วยถ่านชีวภาพและสารชีวภาพ รวมทั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นำพร ปัญโญใหญ่ หัวหน้าโครงการส่งเสริมการบริหารจัดการระบบนิเวศชุมชนสีเขียวอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ พร้อมคณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ที่ได้ร่วมมือกับทางเทศบาลดำเนิการ “โครงการเมืองอาหารปลอดภัย : การนำวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติสู่การเป็นเมืองอาหารปลอดภัย” จะเน้นไปที่การทำถ่านจากวัสดุเหลือใช้ ถ่านชีวภาพ หรือ ไบโอชาร์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสามารถที่จะทำให้การเผาไหมไม่เกิดควัน จนส่งผลให้เกิดหมอกควันในที่สุด ทั้งนี้เมื่อการเผาไหมของการทำถ่านชีวภาพ ก็ยังสามารถนำมาเป็นปุ๋ยบำรุงดินได้ด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนศิษฎ์ กล่าวว่า ถ่านชีวภาพ หรือ ไบโอชาร์ (Biochar) คือวัสดุที่อุดมด้วยคาร์บอน ผลิตจากชีวมวล หรือสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้จากธรรมชาติ หรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ หญ้า ฟางข้าว เหง้ามันสําปะหลัง ซังและต้นข้าวโพด มูลสัตว์ กากตะกอนของเสีย เป็นต้น แม้กระทั่งมูลสัตว์นำมาผ่านกระบวนการเผาไหม้ที่มีการควบคุม อุณหภูมิและอากาศหรือจำกัดอากาศให้เข้าไปเผาไหม้น้อยที่สุดซึ่งกระบวนการเผาไหม้นี้ เรียกว่า”การแยกสลายด้วยความร้อนหรือกระบวนการไพโรไลซิส” ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจนหรือมีออกซิเจนน้อยมาก มีงานวิจัยที่ได้ศึกษาการใช้ประโยชน์ของถ่านชีวภาพมีหลายด้าน เช่น การปรับปรุงดิน และช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงลดระยะเวลาการปลูกได้อีกด้วย แล้วแต่ชนิดของพืชที่ปลูก มีงานวิจัยที่นำถ่านชีวภาพไปใช้กับพืชทางการเกษตร ใช้เป็นวัสดุปลูกร่วมกับวัสดุอื่น เพื่อผลิตผลผลิตทางการเกษตร การลดการดูดซับสารเคมีที่ใช้กำจัดวัชพืชและศัตรูพืช และโลหะหนักที่อยู่ในดินและน้ำ ของพืชที่ปลูก โดยถ่านชีวภาพจะตรึงสารเคมีกลุ่มนี้ไว้ ทำให้ลดผลกระทบต่อพืชที่ปลูกจากสารเคมีและโลหะหนักที่ปนเปื้อน ใช้ดูดซับน้ำมันปิโตรเลียม ใช้เป็นตัวเร่ง ในปฏิกริยาในกระบวนการผลิตไบโอดีเซละและไบโอแก๊ส ใช้เป็นวัสดุเพื่อผลิตชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์ ผลิตกราฟีน เป็นต้น
“ถ่านชีวภาพถูกนำมาใช้มาเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว โดยชุมชนพื้นเมืองในแถบลุ่มน้ำอะเมซอนของทวีปอเมริกาใต้ ได้ใช้เศษพืชจากพื้นที่เพาะปลูกและมูลสัตว์ เผาให้กลายเป็นถ่านชีวภาพ ซึ่งเรียกชื่อตามภาษาท้องถิ่นว่า Terra Preta มีความหมายว่าโลกดำ (black earth) หมายถึง สีของดินบริเวณนั้นมีสีคล้ำจนเกือบดำ เนื่องจากดินดังกล่าวมีปริมาณธาตุอาหารหรืออินทรียวัตถุในดินสูงกว่า พื้นที่ที่ไม่ใส่ถ่านชีวภาพ ปัจจุบันพบว่าพื้นที่ที่เคยมีการใช้ถ่านชีวภาพในพื้นที่เกษตรกรรม ในหลายพื้นที่ของอเมริกา ยุโรปและ เอเชีย เช่น เอกวาดอร์และเปรูในอเมริกาใต้ เบนิน และไลบีเรียในแอฟริกาตะวันตกและทุ่งหญ้าสะวันนาในแอฟริกาใต้ จีนและออสเตรเรีย เป็นต้น อีกทั้งมีงานวิจัยจำนวนมากที่เกี่ยวกับการผลิตและการประยุกต์ใช้งานถ่านชีวภาพ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนศิษฎ์
ทางด้าน นายวันชัย กล่าวว่า การดำเนินการของทางเทศบาลนครเชียงราย ได้พึ่งทำให้เกิดเป็นรูปธรรม แต่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องของการป้องกันหมอกควันและไฟป่า ซึ่งโครงการนี้ จะสอดคล้องกันทั้งหมด ทั้งทางด้านเรื่องหมอกควัน และโครงการอาหารปลอดภัย ที่ก่อให้เกิดทั้งสิ่งที่ดี ต่อประชาชนชาวเชียงราย ในเรื่องได้อากาศที่ปลอดภัย บำรุงดิน ให้ได้ดินที่ดี ให้เกิดอาหารปลอดภัยในที่สุด ซึ่งเชื่อว่าผู้เข้ารับการอบรมครั้งนี้จะนำวิชาความรู้ ออกไปเผยแพร่ต่อได้ให้คนในชุมชนของเทศบาลนครเชียงราย.