ข่าวเด่น

ดีเอสไอเล็งรับคดีสวมสัญชาติให้ต่างด้าว 255 คน

เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2563 พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล ผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง ดีเอสไอ และนายธวัชชัย รัตนปรีชาชัย ผู้อำนวยการส่วนคดีความมั่นคง 2 ดีเอสไอ ร่วมกับนายวีระชาติ ดาริชาติ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง นายเอกอนันต์ ศรีอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปรามการทุจริตการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน กรมการปกครอง เดินทางเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีพบมีคนต่างด้าวสวมสิทธิสัญชาติไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมายและได้ใช้สิทธิไปประกอบธุรกิจต้องห้าม อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ในพื้นที่ชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เวียงแก่น โดยมี นายอุดม อยู่อินไกร นายอำเภอเวียงแก่น และ พ.ต.อ.ดิลก รื่นเนตร ผกก.สภ.เวียงแก่น ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล

โดย ร.ต.อ.วิษณุ เปิดเผยว่า คดีดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากกรมการกงสุลได้แจ้งข้อมูลแก่ทางดีเอสไอว่าได้มีชาย คนหนึ่งทราบชื่อต่อมาว่านายแก้ว แซ่ลี เป็นผู้ถือหนังสือเดินทางระหว่างประเทศถึง 2 ฉบับคือในนามสัญชาติไทยและสัญชาติจีน โดยเคยถือหนังสือผ่านการตรวจของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ในประเทศจีน เมื่อเจ้าหน้าที่ไทยทราบจึงได้ตรวจพบว่านายแก้วเป็นชาวต่างด้าวและได้สวมสัญชาติไทยโดยใช้วิธีสวมชื่อในบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ ณ สำนักงานทะเบียน อ.เวียงแก่น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีข้าราชการที่เป็นอดีตปลัดอำเภอที่เคยทำงานที่ อ.เวียงแก่น ในฐานะผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอเป็นผู้ดำเนินการให้ อีกทั้งเมื่อขยายผลร่วมกับสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองแล้ว ก็พบว่าในช่วงที่ปลัดอำเภอคนดังกล่าวทำหน้าที่ได้มีการสวมสิทธิในลักษณะดังกล่าวแก่บุคคลอื่นๆ รวมกันอีกกว่า 255 คน

ร.ต.อ.วิษณุ กล่าวด้วยว่า ทางคณะทำงานจึงบูรณาการร่วมกันทำงานใน 2 มิติ คือด้านความมั่นคงของประเทศให้ทางฝ่ายปกครอง จ.เชียงราย ดำเนินการ และอีกด้านคือการดำเนินธุรกิจต้องห้ามของคนต่างด้าว ซึ่ง ทาง ดีเอสไอ เป็นผู้ดำเนินการ โดยนำรายชื่อทั้ง 255 ราย มาตรวจสอบพบมีการดำเนินธุรกิจ 15 ราย จำนวน 19 บริษัท มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 3,600 ล้านบาท ซึ่งเข้าข่ายของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่มีสินทรัพย์เกินกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะมีการตรวจลายนิ้วมือโดยส่งไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจเปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วมือกับผู้ทำบัตรประจำตัวบัตรประชาชนเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลที่แท้จริง

ทางด้านนายอุดม กล่าวว่า จากการตรวจสอบรายชื่อผู้เข้าข่ายบุคคลต่างด้าวเข้ามาสวมบัตรประชาชนมีจำนวน 255 ราย โดยจะแยกตรวจสอบตามความสำคัญ โดยในกลุ่มแรกที่ทาง ดีเอสไอ ระบุว่า มีการเข้ามาดำเนินธุรกิจโดยผิดกฎหมาย 15 ราย ก็จะเร่งดำเนินการก่อนหากมีหลักฐานเชื่อได้ว่าได้บัตรประจำตัวประชาชนมาโดยมิชอบโดยกฎหมายก็เข้าสู่กระบวนการจำหน่ายหรือเพิกถอนเอกสารต่างๆ จากนั้นค่อยดำเนินการอีก 200 กว่าคนที่เหลือ หากตรวจพบมีส่วนราชการมีส่วนเกี่ยวข้องก็จะเข้าสู่กระบวนการทางวินัยและอาญาด้วย เบื้องต้นมีคำสั่ง จ.เชียงราย ไล่ออกปลัดอำเภอแล้ว 1 คน และมีการแจ้งความในคดีอาญาในปี 2559 ไว้แล้ว

พ.ต.อ.ดิลก กล่าวว่า เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2559 ทาง อำเภอเวียงแก่น ได้แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเอาผิดกับทางปลัดอำเภอในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันให้การรับรองการออกบัตรประชาชนอันเป็นเท็จในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งตรวจสอบเป็นข้าราชการของรัฐทางตำรวจจึงส่งเรื่องให้กับทางปปช.เข้าดำเนินการแล้ว

ขณะที่ พ.ต.ท.ปกรณ์ แถลงว่า ปัจจุบันดีเอสไอมุ่งดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกรณีการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 อย่างเด็ดขาดและครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อคุ้มครองธุรกิจที่คนไทยไม่พร้อมที่จะแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะได้มีคนต่างด้าวสวมสิทธิเป็นคนไทยโดยมิชอบแล้วเข้าไปถือหุ้นแทนหรือเป็นนอมินีเพื่ออำพรางว่าเป็นธุรกิจของคนไทยด้วย ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบที่มาของแหล่งเงินทุนของธุรกิจว่าเข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมายฟอกเงินด้วยหรือไม่อีกด้วย หากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดดังกล่าว สามารถแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ที่สายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยดีเอสไอจะเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับต่อไป ล่าสุดทางดีเอสไอได้พิจารณาที่จะรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษเรื่องสืบสวนที่ 23/2563 หากทางฝ่ายทะเบียนมีการเพืกถอนสิทธิ์ของผู้สวมบัตรประชาชนเหล่านี้ก็จะดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายทันที.