ข่าวเด่น

รมช.คมนาคมตรวจเยี่ยมท่าเรือแม่น้ำโขง เร่งดันเศรษฐกิจชายแดนลุยหลังโควิด-19

เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2563 ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นำคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน แห่งที่ 2 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และท่าเรือพาณิชย์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ชายแดนไทย-สปป.ลาว โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ซึ่งพบว่าในปัจจุบันท่าเรือหลายแห่งในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 4 ชาติ คือ ไทย เมียนมา สปป.ลาว และจีน ได้มีการปิดดำเนินการ โดยเฉพาะ สปป.ลาว ได้ปิดพรมแดนป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ท่าเรือของประเทศไทยได้เปิดให้มีการนำเข้าและส่งออกสินค้า ที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ได้ ทำให้มีการส่งออกสินค้าไปยังท่าเรือบางแห่งที่เปิดรับสินค้าไทย เช่น ท่าเรือสบหลวย ประเทศเมียนมา ฯลฯ

โดย ดร.อธิรัฐ กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการของท่าเรือแม่น้ำโขงที่ จ.เชียงราย พบว่ามีภาวะขาดทุนปีละ 4,000,000-5,000,000 บาท ทั้งๆ ที่มีศักยภาพสูงจึงเห็นว่าหากมีการบูรณาการกันทุกฝ่ายสามารถที่จะพัฒนาให้ดีกว่านี้ได้ โดยเฉพาะมีพื้นที่โล่งของท่าเรือมีอยู่มาก เบื้องต้นทราบว่าประมาณ 30 ไร่ แต่กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์ ดังนั้นแนวทางการพัฒนาคือระดมภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้สามารถเข้าไปลงทุนภายในสถานที่ของท่าเรือ โดยมีการเปิดกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจด้านโลจิสติกส์หรือการค้าชายแดนเท่านั้น ซึ่งการดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม สามารถประสานกลุ่มทุนในเครือข่ายโดยเฉพาะจากประเทศจีนเข้าไปลงทุน โดยมีการคิดค้นจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใน และเมื่อเห็นผลเป็นรูปธรรมทางการท่าเรือแห่งประเทศไทยก็จะสามารถได้รับการสนับสนุนงบประมาณมาพัฒนาเพิ่มเติมได้ต่อไป

“แนวทางพัฒนาดังกล่าวต่อเนื่องไปถึงการที่ภาคเอกชนของ จ.เชียงราย ได้ร้องขอให้มีการติดตั้งเครนยกสินค้าที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ด้วย เพราะที่ผ่านมาการขอรับการสนับสนุนงบประมาณไมได้เต็มที่เพราะผลประกอบการโดยเฉพาะปริมาณตู้สินค้าและกิจกรรมทางการค้าที่ท่าเรือยังไม่มากเพียงพอ แต่หากมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวมากขึ้น การสนับสนุนก็จะสามารถทำได้โดยกระทรวงคมนาคมก็จะรับประสานกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป ทั้งนี้ในเบื้องต้นจะให้มีการเช่าเครนให้บริการภาคเอกชนไปก่อน และช่วงนั้นก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาการพัฒนาในภาพรวม และในอนาคตก็จะมีการจัดซื้อเครนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 แห่งนี้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทาง การท่าเรือแห่งประเทศไทยแจ้งว่า จากการประเมินการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 พบว่าจะต้องมีตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเรือเดือนละ 200-300 ตู้ แต่ปัจจุบันมีเพียงปีละประมาณ 100 ตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น ดังนั้นจึงเปิดให้เอกชนนำเครนไปให้บริการผู้ประกอบการค้า ขณะที่ภาคเอกชนได้นำเสนอว่าที่ผ่านมาสินค้าที่ส่งออกมีทั้งที่บรรทุกใส่ตู้คอนเทนเนอร์และไม่ใส่ แต่มีการเปิดตู้เพื่อทำพิธีการส่งออกทำให้เหลือที่บรรจุตู้ส่งออกจำนวนน้อยดังกล่าว รวมทั้งต้นทุนในการใช้บริการเครนยกสินค้าจากท่าเรือลงเรือสูงถึงตู้ละ 10,000-20,000 บาท แต่หากภาครัฐมีเครนสนับสนุนและคิดราคาที่ต่ำกว่านี้ก็จะทำให้ปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้นมากเองโดยอัตโนมัติ

ทางด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดหาสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะจีนตอนใต้ทำกันแทบไม่ทัน เพราะตลาดมีความต้องการสินค้าประเภทผลไม้ ผัก อาหารแช่แข็ง ฯลฯ ในปริมาณมาก แต่ต้องใช้การส่งออกด้านอื่นแทน ดังนั้นเนื่องจากท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนถือเป็นศูนย์กลางการค้าลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งหากพัฒนาระบบเครนก็จะดึงดูดให้มีการส่งออกด้านนี้ได้มากและทำให้ปริมาณตู้สินค้าเพิ่มมากขั้นตามมาเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในโอากาสนี้ ดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา และนางเกศสุดา สังขกร รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานกลุ่มผู้ประกอบการค้าชายแดน อ.เชียงแสน ได้ยื่นหนังสือขอให้มีการพัฒนาท่าเรือด้วยระบบเครนดังกล่าว และประสานให้เกิดการทำพิธีสารระหว่างไทย-จีน ในสินค้าประเภทผัก ผลไม้ สินค้าเกษตร อาหารทะเลแช่แข็ง และเม็ดพลาสติก เพื่อให้การส่งออกไปยังจีนตอนใต้โดยเฉพาะท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนที่ห่างจาก จ.เชียงราย เพียงประมาณ 265 กิโลเมตร สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อทางการจีนเปิดท่าเรือหลังวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในอนาคตต่อไป ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับเรื่องเอาไว้ และรับจะขับเคลื่อนคณะกรรมการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ไปดูข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ ในการเปิดกว้างให้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้าไปลงทุนในที่ดินของการท่าเรือดังกล่าวต่อไป.