ข่าวเด่น

เจ้าสัวน้ำมันพืชลาวผุด”ไชโยแลนด์”เรียนรู้อาร์สามเอปูพื้นเยาวชน-ท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างวันที่ 11-12 พ.ค. 2562 บริษัทฟ้าไชโย จำกัด จัดให้มีการเปิดงานนิทรรศการ “อาร์สามเอจากอดีตสู่ปัจจุบัน” ณ ไชโยแลนด์ ตั้งอยู่บนถนนสายเชียงราย-เวียงชัย ชุมชนดอยสะเก็น ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย โดยมี นายวิชัย วิทยฐานกรณ์ ผู้บริหารบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งคลังสมอง 35 โรงเรียน และผู้บริหารบริษัทน้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) รวมทั้งเป็นนักลงทุนท่าเรือท่องเที่ยวในแม่น้ำโขงที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงกันข้าม อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดและมีท่านโจม เหรียญทองคำ หัวหน้าแผนกโยธาธิการแขวงบ่อแก้ว นำผู้บริหารจากแขวงบ่อแก้วเข้าร่วมครบครัน ซึ่งพิธีจัดให้มีการอธิบายประสบการณ์ชีวิตของนายวิชัยเกี่ยวกับการเข้าไปมีส่วนในการรับรู้และพัฒนาจนก่อให้เกิดถนนอาร์สามเชื่อมไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ รวมทั้งประสบการณ์ร่วมกับภาครัฐทั้ง 3 ประเทศและการลงทุนในนามภาคเอกชนตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 40 ปีและได้เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว มาร่วม 15 ปี จึงได้หันมาพัฒนาที่ดินเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับอาร์สามเอดังกล่าวสำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษาและผู้ที่สนใจ รูปแบบเบื้องต้นเป็นการจัดแสดงภาพถ่ายพร้อมคำอธิบายในอดีตตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงสภาพปัจจุบัน

โดย นายวิชัย กล่าวว่า เมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อนยุคที่ “เติ้ง เสียว ผิง” ยังบริหารประเทศจีนได้หารือกับชาวจีนโพ้นทะเลที่ออกไปใช้ชีวิตในต่างประเทศแล้วได้ทราบว่าประเทศไทยมีความสำคัญอย่างมากในการเชื่อมโยงระหว่างจีนกับอาเซียน จึงระบุว่าจะพัฒนาเส้นทางจากจีนสู่ไทยผ่านทาง สปป.ลาว เพื่อย่นระยะทางขนส่งสินค้าที่ต้องอ้อมแหลมมลายูและใช้เวลาร่วม 2-3 เดือน ให้มาใช้เส้นทางทางบกกระนั้นยุคนั้นก็สงสัยกันว่าพื้นที่ผ่าน สปป.ลาว สู่ไทยเป็นป่าเขาสูงชันระยะทางร่วม 4,000-5,000 กิโลเมตร จะสามารถสร้างถนนได้อย่างไร แต่ทางการจีนก็มุ่งมั่นจะทำให้ได้โดยเบื้องต้นใช้มณฑลเสฉวนซึ่งเป็นบ้านเมืองของเติ้ง เสียว ผิง เป็นฐานและมุ่งสำรวจเส้นทางผ่าน สปป.ลาว จนเกิดเป็นถนนอาร์สามเอผ่านป่าเขาและใช้เพื่อการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวเหมือนในปัจจุบัน

นายวิชัย ซึ่งเคยเป็นประธานคณะอนุกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (มณฑลยูนนาน) สภาหอการค้าไทย เปิดเผยด้วยว่า ก่อนจะมีถนนอาร์สามเอ ก็ได้เคยไปสำรวจเส้นทางและเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว เพื่อรองรับ ทั้งธุรกิจท่าเรือ ต่อเรือ ขนส่ง ฯลฯ ซึ่งในอดีตมีรถข้ามจากฝั่งลาวมายังฝั่งไทยวันละเพียง 2 ลำส่วนใหญ่บรรทุกข้าวและข้าวโพดมาขายกระทั่งผ่านมา 15 ปีสัญญานสัมปทานหมดจึงได้คืนสิ่งต่างๆ ให้กับทางการ สปป.ลาว หมดแล้วแต่ยังคงลงทุนท่าเรือท่องเที่ยวที่เมืองห้วยทราย และมีเรือจำนวน 2 ลำขนาดบรรทุก 80 คน และขนาดยาว 60 เมตรซึ่งกำลังต่ออยู่ ในอนาคตก็กำลังหารือกับภาครัฐ สปป.ลาว ในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยเฉพาะกับท่านคำพัน เผยยะวง เจ้าแขวงอุดมไชย ซึ่งเป็นอดีตเจ้าแขวงบ่อแก้วพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวด้วยการนำร่องเส้นทางแรลลี่แม่น้ำโขงจากแขวงบ่อแก้ว-อุดมไชย ในเร็วๆ นี้

นายวิชัย กล่าวด้วยว่า ในอดีตเส้นทางใน สปป.ลาว ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเพราะมีความงดงาม คนอัธยาศัยดีและยังคงความเป็นธรรมชาติทำให้คนนิยมไปเยือนแล้วล่องเรือจากแขวงบ่อแก้วไปยังแขวงน้ำทาเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 เชื่อม อ.เชียงของ กับเมืองห้วยทรายเสร็จแล้วแต่ปรากฏว่านักท่องเที่ยวกลับลดลงดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษาว่าเกิดจากสาเหตุใดและเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้ตนสร้างไชโยแลนด์เพื่อรวบรวมข้อมูลเพื่อการศึกษาดังกล่าว กระนั้นในอนาคตตนเชื่อว่าอาร์สามเอจะยังพัฒนาต่อไปเพราะรัฐบาลไทยได้อนุมัติสร้างเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แล้ว และประเทศไทยพัฒนาระบบการเข้าออกเมืองด้วยการใช้หนังสือเดินทางระหว่างประเทศหรือพาสปอร์ตโดยไม่ต้องทำเอกสารมากมายแล้วโดยคงเหลือในฝั่ง สปป.ลาว ที่อาจจะต้องพัฒนาตรงจุดนี้ รวมทั้งสนามบินเมืองห้วยทรายก็กำลังพัฒนาให้ใหญ่กว่าเดิม 2-3 เท่า รันเวย์ยาวกว่า 1,700 เมตรได้มาตรฐานสากลทำให้จะมีเครื่องบินขนาดโบอิ้งลงบินได้ในอนาคตด้วย

“ด้วยประสบการณ์ทำงานในหอการค้าไทยมาร่วม 7 ปี และได้เก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ไว้มากมาย จึงอยากให้มีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้กระทั่งพึ่งได้ที่ดินผืนนี้จึงได้สร้างเป็นไชโยแลนด์ เพราะมีฟ้าไชโยใน สปป.ลาว และวันฟ้าไชโยอยู่แล้วจึงสร้างไชโยแลนด์ที่เชียงรายเพื่อให้เรียนรู้เพราะอยู่ใกล้กับสถานที่จริง รูปแบบภายในนอกจากจะเป็นนิทรรศการแล้วในอนาคตก็กำลังปรึกษากับหุ้นส่วนว่าจะออกแบบมาเป็นอย่างไร เบื้องต้นได้ให้นักศึกษา 4 มหาวิทยาลัยเข้าเรียนรู้ เมื่อจบมาก็เข้ามาลงทุนใช้สถานที่ในไชโยแลนด์ได้โดยหากเป็นธุรกิจพืชออแกนิกส์จะให้ใช้ได้ฟรี โดยที่เริ่มต้นจากนักศึกษาเพื่อปูพื้นฐานให้เขาเรียนรู้และในอนาคตก็จะได้นำไปลงทุนสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้ต่อไป” นายวิชัย กล่าวและยกตัวอย่างกรณีประเทศจีนที่มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ หรือเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมากจึงจำเป็นที่คนไทยจะต้องพัฒนาศักยภาพของตัวเองบ้างนั่นเอง.